หลักการใช้ Gerund ภาษาอังกฤษ

By | December 8, 2014

gerund มีรูปเช่นเดียวกับ present participle คือมีรูป “กริยา + ing” ต่างกันที่การใช้ กล่าวคือ present participle มีความหมายครึ่งกริยาครึ่งคุณศัพท์ (Verbal Adjective) ส่วน gerund นี้มีความหมายครึ่งกริยา ครึ่งนาม (Verbal Noun) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า กริยานาม เพื่อให้ใกล้เคียงกับคำภาษาอังกฤษ Verbal Noun

ภารกิจ (function) ของ gerund
1. ใช้ทำหน้าที่ได้อย่างคำนาม
(ก) เป็นประธาน (subject) ของกริยา

1. Swimming is a good exercise.
การว่ายนํ้าเป็นการออกกำลังกายที่ดี

2. Working in this condition is pleasure.
การทำงานในสภาพอย่างนี้เป็นสิ่งน่าสนุก

(ข) เป็น complement ของกริยา

1. The only thing that interests her is dancing.
สิ่งเดียวที่ทำให้เธอสนใจคือการเต้นรำ

2. Seeing is believing.
การเห็นคือการเชื่อ

(ค) เป็นกรรม (object) ของกริยา

1. I remember seeing him.
ผมจำได้ว่าเห็นเขา

2. She likes dancing.
หล่อนชอบการเต้นรำ

(ง) เป็นกรรม (object) ของ preposition

1. He began by explaining the meaning of certain words.
เขาเริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของคำบางคำ

2. She is very fond of dancing.
หล่อนชอบเต้นรำมาก

3. Thank you for returning the book.
ขอบคุณที่นำหนังสือมาคืน

4. He left without saying anything.
เขาจากไปโดยไม่พูดอะไรเลย

2. gerund (กริยาเติม ing) อาจใช้คล้ายๆ กับเป็นคำกริยา คือ
(ก) สามารถมี object ได้ เช่น

1. His hobby is collecting stamps.
งานอดิเรกของเขาคือการเก็บรวบรวม (สะสม) แสตมป์

2. Meeting you has been a great pleasure.
การพบคุณทำให้ (ผม) มีความพอใจมาก

(ข) สามารถมี adverb มาประกอบได้เช่นเดียวกับคำกริยา เช่น

1. She likes driving fast.
หล่อนชอบขับรถเร็ว

2. Reading well will need a lot of practice.
การอ่านให้ได้ดีนั้นต้องใช้การฝึกฝนมากๆ

3. gerund (กริยาเติม ing) อาจใช้ประกอบคำนาม (คือทำหน้าที่คล้าย adjective) ก็ได้

a walking-stick            ไม้ (สำหรับ) ถือเดินเล่น
a swimming-pool        สระ (สำหรับ) ว่ายน้ำ
a knitting-needle        เข็ม (สำหรับ) ถัก
a reading-room           ห้อง (สำหรับ) อ่านหนังสือ
a dancing-teacher      ครู (สำหรับ) สอนเต้นรำ

ตอนนี้จะเห็นว่า gerund ทำหน้าที่คล้ายกับ present participle มาก ทั้ง gerund และ present participle ต่างก็มีรูป “กริยา + ing” ครั้นเมื่อต่างก็ทำหน้าที่ประกอบนาม จึงอาจทำให้สังเกตได้ยากว่าอันไหนเป็น present participle หรือ gerund

ข้อแตกต่างมีดังนี้ คือ
1. เมื่อเป็น gerund ประกอบนาม จะต้องใช้ hyphen เชื่อมระหว่าง gerund กับคำนาม เช่น

a walking-stick = a stick for walking
[แต่สำหรับ present participle ไม่มี hyphen เช่น the crying baby]

2. เมื่อ gerund ประกอบนาม คำนามนั้นมิใช่เป็นผู้กระทำอาการของกริยาข้างหน้า แต่เมื่อ present participle ใช้ประกอบคำนาม คำนามนั้นเป็นผู้กระทำอาการของกริยาข้างหน้า เช่น

participle : a dancing girl    เด็กหญิงซึ่งกำลังเต้นรำ (เด็กหญิงเป็นผู้กระทำอาการ dancing)
gerund : a dancing-teacher  ครูสอนเต้นรำ ไม่ใช่ครูซึ่งกำลังเต้นรำ หากแต่เป็นผู้สอนให้คนอื่นเต้น(= teacher of dancing)

participle : a sleeping child เด็กซึ่งกำลังหลับ (child เป็นผู้กระทำอาการ sleeping)
gerund : a sleeping-car    รถสำหรับนอน car มิได้เป็นผู้กระทำอาการหลับ (= a car for sleeping in)

participle : running water    น้ำซึ่งกำลังไหล (water กระทำอาการ running)
gerund : a running-track ทางสำหรับวิ่ง (track มิได้กระทำอาการวิ่ง)
( = track for running on)

4. gerund (กริยาเติม ing) อาจมีคำแสดงเจ้าของ (possessive) ประกอบข้างหน้า

1. It was no use your telling me not to worry.
ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะบอกผมไม่ให้วิตก(=ถึงอย่างไรผมก็วิตก)

2. He was chosen because of his being a fully qualified engineer.
เขาได้รับเลือกเพราะการเป็นวิศวกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของเขา

3. She was annoyed at your saying that.
หล่อนรำคาญต่อการพูดอย่างนั้นของคุณ (= รำคาญในการที่คุณพูดอย่างนั้น)

4. Please excuse my interrupting you.
โปรดอภัยต่อการขัดจังหวะของผม (=โปรดอภัยที่ผมได้ขัดจังหวะคุณ)

Note 1. การใช้คำแสดงเจ้าของประกอบข้างหน้า gerund (กริยา ing) นี้ โดยปกตินิยมใช้เมื่อเป็นประธานของประโยค เช่น

1. Your being right doesn’t necessarily mean my being wrong.
การที่คุณถูก ไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าผมผิด

2. I am sure Dang’s sitting up so late is bad for his health.
ผมเชื่อว่า การนั่งทำงานดึกๆ ของแดงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขา

Note 2. หลังคำกริยาดังต่อไปนี้ นิยมใช้กับ possessive + gerund (คำแสดงเจ้าของ+ กริยา ing) เสมอ คือ

delay (=ชักช้า, ประวิงเวลา), deny (=ปฏิเสธ)    postpone (=เลื่อนเวลา)

1. Don’t delay your sending in of the application form.
อย่าชักช้าในการส่งใบสมัครของคุณ

2. He doesn’t deny his breaking of the agreement.
เขามิได้ปฏิเสธการที่เขาทำลายข้อตกลง

3. I had to postpone my listening to his plans to a later date.
ผมจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการฟังแผนการของเขาไปวันหลัง

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้มักจะได้พบเห็นในภาษาเขียน (literary) แต่ในภาษาพูดนิยมใช้ personal pronoun มากกว่า เช่นแทนที่จะใช้ his, her, my, … นิยมใช้ he (him), she (her), I (me), … มากกว่า และใน กรณีที่เป็นคำนามเขาก็ไม่ใช้ ’s คงใช้นามตัวนั้นลอยๆ เช่น

ภาษาเขียน: He was chosen because of his being a fully qualified engineer.
ภาษาพูด: He was chosen because of him being a fully qualified engineer.
เขาได้รับเลือกเพราะว่าเขาเป็นวิศวกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน

ภาษาเขียน: She was annoyed at your saying that.
ภาษาพูด: She was annoyed at you saying that.
หล่อนรู้สึกรำคาญที่คุณกล่าวเช่นนั้น

ภาษาเขียน: Please excuse my interrupting you.
ภาษาพูด: Please excuse me interrupting you.
โปรดอภัยที่ผมขัดจังหวะคุณ

ภาษาเขียน: They are looking forward to Ladda’s coming.
ภาษาพูด: They are looking forward to Ladda coming.
พวกเขาตั้งตาคอยการมาของลัดดา

กริยาซึ่งตามด้วย gerund (กริยา ing)


1. I couldn’t avoid meeting him.
ผมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบเขา

2. He enjoys listening to music.
เขาชื่นชอบในการฟังดนตรี

3. I couldn’t risk missing that train.
ผมไม่สามารถจะเสี่ยงต่อการพลาดรถไฟขบวนนั้นได้

4. Do you mind passing the bread ?
คุณจะกรุณาส่งขนมปังให้ผมหน่อยได้ไหมครับ

5. I do not remember seeing them.
ผมจำไม่ได้ว่าเคยเห็นพวกเขาหรือเปล่า

6. The wind has stopped blowing.
ลมหยุดพัดแล้ว

7. He admitted taking the key.
เขายอมรับว่าได้เอากุญแจไป

8. We would appreciate hearing from you.
เราจะยินดีมากถ้าได้ทราบข่าวจากท่าน

9. I consider buying a car.
ผมพิจารณา (ตกลงใจที่จะ) ซื้อรถสักคันหนึ่ง

10. He denied taking the key.
เขาไม่ยอมรับว่าได้เอากุญแจไป

11. He escaped being hurt in the accident.
เขารอดพ้นจากการได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุ (= ไม่ได้รับบาดเจ็บ)

12. I have finished typing my paper.
ผม (เพิ่ง) พิมพ์ (กระดาษ) การบ้านของผมเสร็จแล้ว

13 She imagined winning the first prize on the lottery.

หล่อนคิดฝันว่าจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง

14. I’m sorry that I missed seeing you.
ผมเสียใจที่พลาดโอกาสไม่พบคุณ

กลุ่มคำซึ่งตามด้วย gerund

1. You must go on working.
คุณจะต้องทำงานต่อไป

2. He wants to give up smoking.
เขาต้องการจะเลิกสูบบุหรี่

3. She burst out crying.
หล่อนร้องไห้โฮออกมา

4. You must keep on trying.
คุณต้องพยายามต่อไป (เหมือนดังที่ได้พยายามมาแล้ว)

5. He insisted on going to London.
เขายืนกรานที่จะไปกรุงลอนดอน

6. I object to being treated like this.
ผมไม่ยอม (คัดค้าน) ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างนี้

7. The rain prevented us from going outside.
ฝนขัดขวาง ( = เป็นอุปสรรค) มิให้เราออกไปข้างนอก

8. He succeeded in solving the problem.
เขาได้รับความสำเร็จในการแก้ปัญหา

9. I often think of going to London.
ผมคิดถึงการไปลอนดอนบ่อยๆ

10. The servant was tired of waiting.
คนรับใช้เบื่อในการรับใช้

11. The servant was tired with walking.
คนรับใช้เหนื่อยในการ(=เนื่องจาก) เดิน

12. She is used to getting up early.
หล่อนเคยชินต่อการตื่นนอนแต่เช้า

13. I am accustomed to working late at night.
ผมเคยชินกับการทำงานดึกๆ

14. We are opposed to having a meeting without him.
เราไม่เห็นด้วยที่จะประชุมโดยไม่มีเขา

15. They are looking forward to seeing you.
พวกเขารอคอยที่จะได้พบคุณ

16. He was busy preparing his lessons.
เขากำลังยุ่งอยู่กับการดูหนังสือ

17. Is today’s film worth seeing ?
ภาพยนตร์วันนี้มีค่าควรแก่การดูไหม (= น่าดูไหม)

18. It’s no good crying like a baby.
= It’s no use crying like a baby.
ไม่มีประโยชน์ที่จะร้องไห้เหมือนเด็กๆ

19. There’s no harm in visiting him now.
ไม่มีอันตรายใดๆ ในการที่จะไปเยี่ยมเขาในขณะนี้

20. I had the pleasure in meeting him.
ผมยินดีในการที่พบเขา

21. I take the pleasure in helping the poor.
ผมมีความพอใจในการช่วยเหลือพวกคนยากจน

กริยาซึ่งตามด้วย gerund หรือ infinitive ก็มีความหมายเท่ากัน

1. The woman began to laugh.
= The woman began laughing.
ผู้หญิงคนนั้นเริ่มหัวเราะ

2. The traffic continued to move slowly.
= The traffic continued moving slowly.
การจราจรเริ่มเคลื่อนต่อไปอย่างช้าๆ

3. We dislike to stay here.
= We dislike staying here.
เราเกลียดการอยู่ที่นี่ (= ไม่ชอบอยู่ที่นี่)

4. I dread to think about it.
= I dread thinking about it.
ผมรู้สึกหวาดๆ เมื่อคิดถึงเรื่องนี้

5. They intend to call her tomorrow.
= They intend calling her tomorrow.
พวกเขาตั้งใจจะโทรศัพท์ไปหาหล่อนพรุ่งนี้

6. I like to drive your car.
= I like driving your car.
ผมชอบขับรถของคุณ

7. He neglected to file his income tax return.
= He neglected filing his income tax return.
เขาทอดทิ้ง (ละเลย, ไม่ใส่ใจ) การยื่นใบประเมินเสียภาษีเงินได้

8. I plan to go to the United States next year.
= I plan going to the United States next year.
ผมมีแผนการจะไปสหรัฐฯ ในปีหน้า

9. She started to teach French first.
= She started teaching French first.
หล่อนเริ่มสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นอันดับแรก

กริยาซึ่งตามด้วย gerund มีความหมายต่างจาก infinitive

stop + กริยา ing = หยุดกระทำการนั้น
stop + to กริยา = หยุดเพื่อจะกระทำการนั้น

He stopped talking.    เขาหยุดพูด(ไม่พูดต่อไป)
He stopped to talk.    เขาหยุดเพื่อที่จะพูด

regret + กริยา ing = เสียใจที่ได้กระทำ
regret + to กริยา = เสียใจที่จะกระทำ

I regret saying that to you.
ผมเสียใจที่พูดอย่างนั้นกับคุณ
I regret to say that he’s dead.
ผมเสียใจที่จะบอกว่าเขาตายเสียแล้ว

try + กริยา ing = ลองทำ
try + to กริยา = พยายามทำ

He tried climbing with one hand.
เขาลองปีนด้วยมือๆ เดียว
He tried to climb to the top.
เขาพยายามปีนให้ถึงยอด

mean + กริยา ing = เป็นเหตุให้, ก่อให้เกิด
mean + to กริยา = ตั้งใจ, จงใจ

Having a party tonight means working extra hard tomorrow.
ถ้าเที่ยวคืนนี้จะเป็นเหตุให้ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษในวันพรุ่งนี้
I meant to tell you, but I forgot.
ผมตั้งใจจะบอกคุณ แต่ลืม

remember + กริยา ing = จำการกระทำนั้นๆ ได้
remember + to กริยา = ไม่ลืมที่จะ

I remember sending your letter.
ผมจำการส่งจดหมายของคุณได้ (ผมส่งไปแล้ว และยังจำการส่งได้)

Remember to meet me at the station.
อย่าลืมพบผมที่สถานี

forget + กริยา ing = ลืมการกระทำนั้น (กระทำแล้วแต่ลืมไป)
forget + to กริยา = ลืมที่จะกระทำ (ยังไม่ได้กระทำ เพราะลืม)

He forgets meeting me before.
เขาลืมไปว่าเคยพบผมมาก่อน
He forgot to meet me.
เขาลืมไปพบผม

allow + กริยา ing = อนุญาตให้กระทำการนั้นได้
allow + บุคคล + to กริยา = อนุญาตให้บุคคลกระทำการนั้นได้

The teacher doesn’t allow talking in class.
ครูไม่อนุญาตให้คุยกันในห้องเรียน
The teacher doesn’t allow us to talk in class.
ครูไม่อนุญาตให้พวกเราคุยกันในห้องเรียน

ที่มา:เลิศ  เกษรคำ