รูปแบบของการเขียนจดหมายและอีเมล์ ภาษาอังกฤษ

By | December 24, 2014

รูปแบบของการเขียนจดหมายโดยทั่วๆ ไปนั้น สามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 แบบ คือ
1. แบบเป็นทางการ (Formal Letter)
2. แบบไม่เป็นทางการ (Informal Letter)

จดหมายที่เขียนเป็นแบบทางการก็คือ แบบที่ใช้เขียนติดต่อในหน่วยงานราชการ บริษัท หรือ ห้างร้าน และถ้าเป็นการติดต่อทางธุรกิจเราเรียกเป็นภาอังกฤษว่า “business Correspondence” เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นที่แน่นอนเลยว่า จดหมายประเภทนี้จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนที่ระบุไว้ เช่น การขึ้นต้นหรือลงท้ายจดหมายเป็นต้น  ซึ่งต้องเคร่งครัดเป็นกรณีพิเศษ  เพราะถ้าเป็นทางธุรกิจก็อาจทำให้เสียลูกค้า หรือไม่ก็ธุรกิจเสียหายไปเลย อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับการเขียนจดหมายภาษาอังกฤษธุรกิจนั้น ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาได้จากหนังสือ “การโต้ตอบจดหมายธุรกิจ” ซึ่งเขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันกับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

ในทางตรงกันข้าม จดหมายที่เขียนแบบไม่เป็นทางการ หรือ “Informal Letter” จะไม่ค่อยเคร่งครัดเท่าไรนัก เพียงแต่วางรูปแบบหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Layout” ให้ถูกต้องและเขียนคำขึ้นต้นและลงท้ายให้เหมาะสมกับฐานะผู้รับ พร้อมทั้งใช้ภาษาที่สุภาพก็ดูจะเป็นการเพียงพอแล้ว และตัวอย่างจดหมายประเภทนี้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น จดหมายที่เขียนถึงญาติ คนรัก หรือเพื่อนๆ เป็นต้น

ดังนั้นตัวอย่างจดหมายที่จะนำมาแสดงต่อไปนี้จึงจัดอยู่ในประเภทหลังนี้ และผู้เขียนเองก็จำเป็นต้องศึกษาการใช้คำขึ้นต้นและลงท้ายให้เหมาะสมเช่นกันเพื่อความไพเราะของจดหมายด้วย อาจกล่าวได้ว่าจดหมายรักเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องเป็นการแสดงออกจากความบริสุทธิ์ใจเท่านั้นจึงจะไพเราะและหวานซึ้งประทับใจผู้รับ และพึงจำไว้เสมอว่าการที่ผู้รับจะรู้ว่าจดหมายที่เขาอ่านอยู่นั้นมาจากการเสแสร้งหรือจากส่วนลึกของความรู้สึกที่มีต่อเขานั้นไม่ยากเลย ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ใช่นักเขียนจดหมายรักมืออาชีพ แต่อาศัยที่มีประสบการณ์ในการแปลจดหมายประเภทนี้มานานพอสมควร จึงได้ความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราจะเขียนจดหมายในลักษณะนี้ไว้เป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ก็จะเป็นประโยชน์มิใช่น้อย

นอกจากนี้ ยังจะเป็นการช่วยประหยัดโดยไม่ต้องไปจ้างเขาแปลอยู่บ่อยๆ และก็เป็นไปได้ที่ว่าตัวเองรู้สึกอายคนแปล เลยไม่กล้าแสดงออกความในใจของตนได้เต็มที่ ทำให้รู้สึกอึดอัดและขวยเขิน ซ้ำร้ายถ้าตัวผู้แปลเองไม่ระวังในการใช้คำศัพท์และสำนวนก็เป็นการเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดกันได้ง่าย ผู้เขียนได้ตระหนักถึงข้อนี้เป็นหลัก และเพื่อเป็นการช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถเขียนจดหมายรักภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง ผู้เขียนจึงได้เขียนขึ้นโดยใช้ภาษาง่ายๆ และเป็นแบบไทยๆ มิได้แปลจากตำราของต่างประเทศเพราะสภาพการณ์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และก็มิได้ลอกเลียนจากผู้ใดทั้งสิ้น ตัวผู้เขียนเองก็ใช่ว่าจะเก่งภาษาอังกฤษนัก แต่อาศัยที่ใจรักจึงกล้าเขียนขึ้นมา และก็ขอวิงวอนท่านผู้รู้ได้ช่วยชี้แนะด้วยเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ตัวผู้เขียนเองและท่านผู้อ่านอีกด้วย

อย่างไรก็ตามก็ยังคงเน้นหนักไปในทางวิชาการมากกว่าอย่างอื่น กล่าวคือต้องการสอนให้ผู้อ่านสามารถเขียนจดหมายรักภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเองเป็นประการสำคัญ ดังนั้นจึงมิได้มีเจตนาที่จะทำลายภาพพจน์ที่ดีของประเทศ หรือส่งเสริมให้คนไทยหันมาประกอบอาชีพขายบริการกันมากขึ้นก็หาไม่แต่ประการใด และเรื่องราวต่างๆ ในจดหมายแต่ละฉบับก็เขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวอย่างประกอบในการอธิบายเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ดูสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น เพราะถ้าเป็นการติดต่อระหว่างคนไทยด้วยกันเองแล้ว ก็คงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเขียนจดหมายเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ

กฎเกณฑ์บางอย่างที่ควรทราบ
(Some rules you should know)
1. การขึ้นต้นจดหมาย
(Salutation)

การขึ้นต้นจดหมายก็เหมือนกับการทักทายปราศรัยกันโดยทั่วๆ ไป และก็เหมือนกับการพูดทางโทรศัพท์ ซึ่งเรานิยมทักทายกันว่า “Hello!” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง และถ้าเป็นการพบปะกันธรรมดา เราก็จะทักทายกันว่า “Good morning!” หรือ “Good afternoon!” หรือไม่ก็ “Hi! How are you?” เป็นต้น แต่ว่าในการเขียนจดหมายนั้น มีวิธีการทักทายอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจดหมายรักก็มีวิธีการทักทายกันในลักษณะ ดังต่อไปนี้

My Dearest Peter,
Peter, Darling,
My Darling,
My Sweet Heart,
My Honey,
My Dearest James,
etc…

2. การลงท้ายจดหมาย
(Complimentary close)

การลงท้ายจดหมาย ก็คือการสั่งลากันนั่นเอง และเหมือนกับการกล่าวคำอำลาในภาษาพูด ซึ่งเราจะกล่าวว่า “OK! Bye-bye” หรือ “Good-bye” หรือไม่ก็ “See you!” หรือ “Bye for now” เป็นต้น แต่ว่าในจดหมายรักเราจะลงท้ายในลักษณะนี้

Love,
Lots of love,
All my love,
Love and kisses,
Yours lovingly,
Yours always,
Yours only,
Only yours,
Always yours,
Forever yours,
etc.

รูปแบบจดหมายแบบง่ายๆ
(Specimen)

PROVERB
(ภาษิต)
Get married with the one who loves you.
(จงแต่งงานกับคนที่เขารักคุณ)

Love me little, but love me long.
(โปรดรักฉันแต่น้อยๆ แต่ขอให้รักนานๆ)

Love comes with pity.
(ความรักมักจะมาพร้อมกับความสงสาร)

Love often turns to hate.
(ความรักมักกลายเป็นความชัง)

When in love everything is sweet.
(ยามมีความรักทุกสิ่งก็ดูหวานไปหมด)

Beautiful flowers are soon picked.
(ดอกไม้งามมักจะถูกเด็ดเร็ว)

A loveless marriage is dangerous.
(การแต่งงานโดยไม่ได้รักกันมาก่อนเป็นสิ่งอันตราย)

The more I see you, the more I love you.
(ยิ่งฉันได้เห็นคุณมากเพียงใด ฉันก็ยิ่งรักคุณมากเพียงนั้น)

Still water runs deep.
(น้ำนิ่งไหลลึก)

More beautiful, more dangerous.
(ยิ่งสวยก็ยิ่งอันตราย)

Love and pity are twins.
(ความรักและความสงสารเป็นของคู่กัน)

Out of sight, out of mind.
(พอพ้นสายตาเข้าหน่อยก็ลืม)

From seeing comes love.
(จากการได้เห็นจึงตามมาด้วยความรัก)

Soon ripe, soon rotten.
(รักง่ายมักจะหน่ายเร็ว)

ที่มา:ลำดวน  จาดใจดี