ความสำคัญของไวยากรณ์ในการเขียนจดหมายภาษาอังกฤษ

By | December 24, 2014

ไวยากรณ์โดยย่อ
(Grammar in brief)

การที่เราจะใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างสละสลวยและถูกต้องนั้น ก็จำเป็นจะต้อง รู้เรื่องไวยากรณ์ด้วย และไวยากรณ์คืออะไร ถ้าจะกล่าวโดยย่อไวยากรณ์ก็คือ วิชาว่าด้วยระเบียบของภาษา เช่น การใช้ประธาน กริยา หรือคำที่เป็นกรรมของกริยา เป็นต้น จะเรียนรู้ไวยากรณ์ได้จากไหน ก็มีหลายแห่งด้วยกัน เช่น เรียนที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือตามสถาบันภาษาต่างๆ และแม้กระทั่งซื้อตำรามาอ่านเอง ก็นับว่าช่วยได้มากทีเดียว ถ้าหากว่าสนใจที่จะเรียนรู้จริงๆ อย่างไรก็ตาม หลายท่านบอกว่าบางคนไม่รู้ไวยากรณ์ เลยยังพูดได้คล่อง ไม่เห็นจำเป็นต้องรู้เลย ผู้เขียนไม่เถียงข้อนี้ แต่สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่าเราจะใช้ภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ถูกๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Broken English หรือ Pidgin English เช่น You is what? แทนที่จะใช้ What are you?  ซึ่งแปลว่า คุณเป็นอะไร เราจะใช้ผิดๆ อยู่อย่างนี้หรือ

ดังนั้นไวยากรณ์จึงมีความสำคัญมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาเขียน (Written English) และเรื่องไวยากรณ์นี้ก็ไม่ยากที่จะเรียนรู้ ในชั้นต้นๆ เราอาจจะศึกษาแบบเจาะเอาเฉพาะบางเรื่องก่อนก็ได้ แล้วก็ค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยก็จะเก่งได้เองในที่สุด พึงนึกไว้ว่า “ที่ไหนมีความพยายาม ที่นั่นมีความสำเร็จ – Where there is a will, there is a way.”

แต่น่าเสียดายที่ว่า ผู้เขียนไม่สามารถจะอธิบายเรื่องไวยากรณ์ได้โดยละเอียดในที่นี้ได้ ดังนั้นจะขอหยิบยกเอาเฉพาะบางเรื่อง ที่เราจำเป็นต้องรู้ในภาษาเขียนมาอธิบายไว้แต่เพียงย่อๆ เท่านั้น

สิ่งเหล่านี้คืออะไร
1. NOUN
คำนาม คือคำที่ใช้เป็นชื่อของบุคคล สถานที่ และสิ่งของทั่วๆ ไป หน้าที่หลักของคำนาม คือใช้เป็นประธาน และเป็นกรรมของประโยคและใช้อักษรย่อว่า N. (ดูตัวอย่าง)

Malee goes to school. (Malee เป็นชื่อคนและเป็นประธาน)
I like Malee. (Malee ในที่นี้เป็นกรรม-ถูกชอบ)

2. PRONOUN
สรรพนาม คือคำที่ใช้แทนคำนาม เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวนามนั้นซ้ำอยู่บ่อยๆ ในภาษาไทยก็มี เช่น นายแดง เป็นคนดี เขาฉลาดมากด้วย (เขา เป็นคำสรรพนามเพราะแทนตัวนายแดง) และเมื่อมันใช้แทนคำนามได้ มันก็ย่อมทำหน้าที่แทนคำนามได้เช่นกัน กล่าวคือเป็น ประธาน และกรรมของประโยคได้ แต่อาจเปลี่ยนรูปไปตามกฎเกณฑ์ เท่านั้น

เราเรียกคำสรรพนาม ย่อๆ ว่า Pro. (ดูตัวอย่าง)

Daeng is a good boy and he is very clever.
(he เป็นคำสรรพนาม ใช้แทนคำว่า Daeng) คำที่เป็นสรรพนาม เช่น he, she, it, I, you, we, they, him, me, mine, yours, theirs, myself, yourself etc.

3. SUBJECT

ประธาน คือคำที่ทำหน้าที่แสดงอาการ กล่าว พูด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังนั้นประธาน ก็คือผู้กระทำสิ่งต่างๆ นั่นเอง ส่วนอาการที่ประธานแสดงออกมานั้น เราเรียกว่า กริยา (ซึ่งจะกล่าวถึงหลังจากนี้) และเมื่อมีประธาน ก็จะต้องมี กริยา ควบคู่กันไป จึงจะเป็นประโยคที่สมบูรณ์ เราใช้อักษรย่อเรียกประธานว่า Subj.

4. VERB
กริยา คือคำที่ใช้แสดงอาการกระทำของ คำนาม หรือ สรรพนาม เช่น แสดงอาการ เดิน walking หรือวิ่ง running กริยา ก็มีทั้งกริยาแท้ (Main verbs) และกริยาช่วย (Helping Verbs, Auxiliary Verbs)
-ตัวอย่างกริยาแท้ เช่น. to go, to stay etc.
-ตัวอย่างกริยาช่วย เช่น. is, will, have etc.
(ถ้าต้องการรู้ว่า เมื่อไรจึงใช้กริยาแท้ หรือกริยาช่วย ต้องไปดูที่บทว่าด้วยการใช้ กาล = Tense)

5. OBJECT
กรรม คือคำนาม หรือ สรรพนามที่เป็นผู้ถูกกระทำโดยประธาน โดยมากคำที่เป็น กรรม นี้จะเรียงไว้หลังกริยาเสมอ เช่น.

I hit the dog. (dog เป็นกรรมเพราะถูกตีโดย I)

อนึ่งพึงจำไว้เสมอว่า ในทุกประโยค (SENTENCE) นั้น ไม่จำเป็น จะต้องมีกรรมเข้ามารองรับเสมอไป เพราะกริยาบางตัวไม่ต้องมีกรรม ก็ได้ความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเองแล้ว กริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับเราเรียกว่า “กริยาเรียกหา กรรม” หรือ “สกรรมกริยา” หรือเรียกว่า “Transitive Verb” ในภาษาอังกฤษ ใน ดิกชันนารี่จะมีอักษรย่อบอกไว้ว่า (vt.) ส่วนกริยาที่ไม่ต้องมีกรรม เราเรียกว่า “อกรรมกริยา’’ และในดิกชันนารี่จะใช้คำย่อว่า (vi.) ซึ่งมาจาก “Intransitive Verb” นั่นเอง

ข้อแตกต่างระหว่างกริยาที่ต้องมีกรรมและไม่ต้องมี
-กริยาที่ไม่ต้องมีกรรม เช่น. นอน (sleep) หรือ ตาย (die) เมื่อเขาบอกว่า ตาย ก็ไม่ต้องถามว่า ตายอะไรแล้ว เป็นอันรู้กัน

-กริยาที่ต้องมีกรรม เช่น. กิน (eat) ถ้าบอกว่าฉันกิน แน่นอน ต้องมีคนถามต่อไปว่า กินอะไร ดังนั้น จึงต้องมีกรรมรองรับ เช่น ข้าว หรืออะไรก็ได้ จึงเป็นรูปเต็มว่า I eat rice.

อนึ่งคำที่เป็น กรรม นี้ เราเรียกย่อๆ ว่า Obj.

6. ADVERB
กริยาวิเศษณ์ คือคำที่ใช้ขยายกริยา และคุณศัพท์ ให้เด่นชัดขึ้น เช่น. บอก อาการ สถานที่ บอกจำนวนครั้ง หรือความมากน้อย เป็นต้น โดยปกติคำกริยาวิเศษณ์ จะลงท้ายด้วย -ly เช่น. quickly, usually, always, urgently, often, possibly slowly etc. (ดูตัวอย่าง)

I walk slowly, (slowly ขยาย walk ให้รู้ว่าเดินช้าๆ ) เราเรียก กริยาวิเศษณ์ย่อๆ ว่า Adv.

7. ADJECTIVE
คุณศัพท์ คือ คำที่ขยาย คำนาม หรือ สรรพนาม ให้เด่นชัดขึ้น เช่น บอกสีต่างๆ ความสูงต่ำ หรือจำนวน เป็นต้น

คำเหล่านี้ได้แก่ red, white, black, few, little, short, tall, high, many, good, bad etc.

คำคุณศัพท์ นั้นมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ (ดูตัวอย่าง)

He is a good boy. (good ขยาย boy ให้รู้ว่าเขาเป็นเด็กดี)

เราเรียกคำ คุณศัพท์ ย่อๆ ว่า Adj. โดยปกติ คำคุณศัพท์ จะเรียงไว้หน้านามเสมอ นอกจากกรณีที่อยู่หลังกริยาช่วย Verb to be เช่น

A boy is good, (good อยู่หลังกริยาช่วย verb to be)

8. SENTENCE
ประโยค คือกลุ่มคำที่มีความหมายสมบูรณ์ และรู้ได้ว่าใครทำอะไร ดังนั้น ส่วนประกอบของประโยคหนึ่งๆ อย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย
ประธาน (Subject) + กริยา (Verb)
หรือ
ประธาน (Subj.) + กริยา (Verb) + กรรม (Obj.)
(ดูตัวอย่าง)
1. He sleeps. (Subj.) + (Verb)
2. He speaks English. (Subj.) + (Verb) + (Obj.)

9. TENSE
กาล หรือเวลานี้มีไว้เพื่อบอกให้รู้ว่า เหตุการณ์นั้นๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นทุกภาษาจึงต้องมีกาลประกอบอยู่ด้วย กาล แบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 3 คือ

1. ปัจจุบันกาล    – (Present Tense)
2. อดีตกาล    – (Past Tense)
3. อนาคตกาล    – (Future Tense)

กาลมีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องรู้ เพื่ออะไรหรือ
หลังจากที่เรารู้แล้วว่า ประธาน กริยา หรือ กรรม คืออะไรแล้ว เราก็จะต้องรู้วิธีใช้คำเหล่านี้ด้วยจึงจะเป็นประโยชน์ และวิธีใช้คำเหล่านี้ก็สามารถดูได้จากโครงสร้างของแต่ละกาล กล่าวคือในแต่ละกาลนั้นเขาจะระบุโครงสร้างรูปประโยคสำเร็จรูปไว้ให้แล้วหน้าที่ของเราก็เพียงแต่เรียนรู้ว่าจะใช้กาลไหน และเมื่อไรจึงจะเหมาะสมเท่านั้นเอง ต่อไปนี้เป็นโครงสร้าง และหลักการใช้ของแต่ละกาล (TENSE) ซึ่งจะเรียกชื่อ เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ดังนี้.

ต่อไปนี้เป็นสูตรสำเร็จรูปเรื่องกาล
TENSES
กาล ในภาษาอังกฤษ นั้นแบ่งออกเป็น 12 ตามสูตรและโครงสร้าง ดังนี้
Present Tense (ปัจจุบันกาล)
1. Present Simple Tense    = Subj. + V (1) ,s es
2. Present Continuous Tense    = Subj. + is, am, are + V-ing
3. Present Perfect Tense    = Subj. -I- has, have -I- V (3)
4. Present Perfect Continuous Tense = Subj. -I- has, have + been + V-ing

Past Tense (อดีตกาล)
1. Past Simple Tense = Subj.    + V (2)
2. Past Continuous Tense     = Subj.    + was, were + V-ing
3. Past Perfect Tense = Subj.    + had + V (3)
4. Past Perfect Continuous Tense =    Subj.    + had + been + V-ing

Future Tense (อนาคตกาล)
1. Future Simple Tense =    Subj. + will, shall + V (1)
2. Future Continuous Tense =    Subj. + will, shall + be + V-ing
3. Future Perfect Tense =    Subj. + will, shall + have + V (3)
4. Future Perfect Continuous Tense     = Subj. + will, shall + have + been + V- ing

โครงสร้างและการใช้กาลต่างๆ
PRESENT TENSE ปัจจุบันกาล

1. Present Simple Tense (ปัจจุบันกาลธรรมดา)
โครงสร้าง    Subject + Verb (1) หรือเติม s, es

การใช้ปัจจุบันกาลธรรมดา

1. ใช้กับเหตุการณ์ที่เป็นจริงเสมอ เช่น. โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
The earth moves around the sun.

2. ใช้กับเหตุการณ์ที่ทำเป็นปกตินิสัย หรือเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันกาล ซึ่งมักจะมีคำเหล่านี้ เช่น. always, usually, often, sometimes, nearly etc.

I often get up very early. (ฉันตื่นนอนแต่เช้าตรู่อยู่บ่อยๆ)
(เติม s ที่ moves เพราะ The earth เป็นเอกพจน์คือสิ่งเดียว)

หมายเหตุ
คำว่า Verb (1) นั้นหมายถึงกริยาช่องที่ 1 นั่นเอง เพราะในภาษาอังกฤษ มีกริยา อยู่ถึง 3 ช่อง แต่ละช่องก็ใช้ต่างกัน คือ ช่องที่ 1 ใช้กับ ปัจจุบันกาล ช่องที่ 2 ใช้กับ อดีตกาล และช่องที่ 3 เป็นพวก Past Participle ใช้กับ กาลสมบูรณ์ (Perfect Tenses) และถ้าต้องการรู้รายละเอียดเรื่องกริยาต่างๆ ควรไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง “Regular Verbs, Irregular Verbs” ซึ่งแปลว่า “ปกติกริยา และ อปกติกริยา”

2. Present Continuous Tense (ปัจจุบันกาลกำลังกระทำอยู่)
โครงสร้าง    Subject + is, am, are + Verb + ing

การใช้ปัจจุบันกาลกำลังกระทำอยู่

1. ใช้กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะที่พูด ให้สังเกตคำลงท้ายของกริยาคือ -ing
เช่น I am writing a letter to you.
แปลว่า “ฉันกำลังเขียนจดหมายถึงคุณ”

2. ใช้แทน อนาคตกาล (Future Tense) เพื่อแสดงว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น ฉันจะไปเชียงใหม่เย็นนี้ เขียนเป็นอังกฤษว่า
I am leaving for Chieng Mai this evening.

3. Present Perfect Tense (ปัจจุบันกาลสมบูรณ์)
โครงสร้าง    Subject + has, have + Verb (3)

การใช้ปัจจุบันกาลสมบูรณ์
1. ใช้กับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในขณะที่พูดอยู่นั้น โดยมากจะมีคำเหล่านี้อยู่ด้วย for, since เช่น

I have lived here since 1975.
ฉันอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1975

2. ใช้กับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่ไม่ได้กำหนดลงไปว่าเมื่อใดแน่ เช่น.

I have visited Lamphun many times.
ฉันไปลำพูนมาหลายครั้งแล้ว

4. Present Perfect Continuous Tense
(ปัจจุบันกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่)

โครงสร้าง    Subject + has, have + been + V-ing

การใช้ปัจจุบันกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่

ใช้กับเหตุการณ์ที่ดำเนินมาเรื่อยๆ ไม่ขาดตอนจากอดีตและดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และโดยมากก็จะมีคำว่า since และ for อยู่ด้วยเช่นกัน เช่น

I have been living in this city for 10 years.
ฉันได้อยู่ในเมืองนี้มากว่า 10 ปีแล้ว (อยู่ที่นี่มาตลอดไม่เคยย้ายไปไหนเลย)

หมายเหตุ
แตกต่างจาก กาลที่ 3 ตรงที่ กาลที่ 4 นี้เน้นเรื่องการต่อเนื่องและไม่ขาดตอนของการกระทำหรือเหตุการณ์เป็นหลัก

PAST TENSE
อดีตกาล

5. Past Simple Tense (อดีตกาลธรรมดา)

โครงสร้าง    Subj. + V(2)

การใช้อดีตกาลธรรมดา

1. ใช้เพื่อแสดงถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้วในอดีต และโดยปกติจะมีคำกริยาวิเศษณ์ เหล่านี้อยู่ด้วย ago, last night, week, yesterday, etc. เช่น

He came to Thailand last year.
เขามาเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว

2. ใช้กับเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ในอดีต และอาจจะมี คำกริยาวิเศษณ์เหล่านี้อยู่ด้วยก็ได้ always, usually, frequently etc. เช่น.
Daeng always kept a light on in the room.
แดงมักจะเปิดไฟในห้องทิ้งไว้เสมอ (นิสัยในอดีต)

6. Past Continuous Tense
(อดีตกาลกำลังกระทำอยู่)

โครงสร้าง    Subj. + was, were + V-ing

การใช้อดีตกาลกำลังกระทำอยู่

ใช้แสดงถึงการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในอดีต และโดยปกติจะมีคำแสดงเวลาระบุให้เห็น เช่น.

It was raining heavily that afternoon.
ฝนกำลังตกอย่างหนักในตอนบ่ายวันนั้น (กำลังเกิดขึ้นแต่ตอนนี้เป็น อดีตไปแล้ว)

7. Past Perfect Tense
(อดีตกาลสมบูรณ์)

โครงสร้าง    Subj. + had + V (3)

การใช้อดีตกาลสมบูรณ์

ใช้แสดงถึงการกระทำสองอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตเหมือนกัน (แต่การกระทำหรือเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน การกระทำหรือเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่ง) และให้ใช้ Past Perfect Tense กับการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนนั้น ส่วนการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังให้ใช้ Past Simple Tense และโดยมากก็จะใช้คู่กันแบบนี้เสมอเสียด้วย นอกจากนี้ยังนิยมใช้คำเหล่านี้เชื่อมประโยคทั้งสองเข้าด้วยกัน คือ when, before, after, that (ดูตัวอย่าง) เช่น.

He had finished his work before I arrived.
เขาทำงานของเขาเสร็จก่อนที่ผมจะมาถึง (งานเสร็จก่อนการมาถึง)

8. Past Perfect Continuous Tense
(อดีตกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่)

โครงสร้าง    Subj. + had + been + V-ing

การใช้อดีตกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่

อาจกล่าวได้ว่าการใช้ Past Perfect Continuous Tense เป็นไปในทำนองเดียวกับการใช้ Past Perfect Tense แต่ Past Perfect Continuous Tense นี้จะเน้นหนักในเรื่องของความต่อเนื่องของเหตุการณ์หรือการกระทำเป็นสำคัญ เช่น.

It had been raining the whole morning.
ฝนได้ตกตลอดทั้งเช้า (ไม่มีการหยุดตลอดเช้านั้น)

FUTURE TENSE อนาคตกาล

9. Future Simple Tense
(อนาคตกาลธรรมดา)

โครงสร้าง    Subj. + will, shall + V (1)

การใช้อนาคตกาลธรรมดา

ใช้กล่าวถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมากจะมีคำกริยาวิเศษณ์ เหล่านี้อยู่ด้วยคือ tomorrow, next week, next month, next year etc. เช่น.

I will write love letters tomorrow.
ฉันจะเขียนจดหมายรักพรุ่งนี้

10. Future Continuous Tense
[อนาคตกาลกำลังกระทำอยู่]

โครงสร้าง    Subj. + will, shall + be + V-ing

การใช้อนาคตกาลกำลังกระทำอยู่
1. ใช้แสดงการกระทำในอนาคตที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ธรรมดาทั่วๆ ไป โดยไม่มีการวางแผนมาก่อน เช่น

The bus will not be passing by our house, we have to get off
here.
รถประจำทางไม่ผ่านข้างบ้านของเรา พวกเราต้องลงที่นี่

2. ที่สำคัญยัง ใช้แสดงถึงการกระทำที่จะเกิดขึ้นเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอนได้ด้วย และโดยปกติจะระบุเวลาให้ทราบแน่นอน เช่น.

We shall be sleeping by the time you return.
เราจะนอนก่อนที่คุณจะกลับมา

11. Future Perfect Tense
(อนาคตกาลสมบูรณ์)

โครงสร้าง    Subj. + will, shall + have + V (3)

การใช้อนาคตกาลสมบูรณ์

ใช้ในกรณีที่เหตุการณ์นั้นจะสมบูรณ์ในอนาคต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ถ้าถึงตอนนั้น เวลานั้น สิ่งที่ทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะสำเร็จเรียบร้อย ทั้งๆ ที่ขณะที่พูดนั้น เหตุการณ์นั้นจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม เช่น.

The play will have started before we reach the theater.
ละครคงเริ่มแสดงแล้วก่อนที่เราจะไปถึงโรงละคร

12. Future Perfect Continuous Tense
(อนาคตกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่)

โครงสร้าง    Subj. + will, shall + have + been + V-ing

การใช้อนาคตกาลสมบูรณ์แต่กำลังกระทำอยู่

การใช้นั้นก็แบบเดียวกันกับ Future Perfect Tense แต่มีจุดต่างกันตรงที่ Future Perfect Continuous Tense นี้จะแสดงถึงความต่อเนื่อง ของการกระทำ หรือเหตุการณ์ในอนาคต โดยมากจะมีคำว่า “By” ที่แปลว่า “ก่อน” อยู่ด้วย เช่น.
By next month, I shall have been graduating from Mahidol University
ก่อนเดือนหน้า ฉันก็จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา:ลำดวน  จาดใจดี