รูปกริยาแบบอื่นๆ ในประโยคเงื่อนไขภาษาอังกฤษ

By | December 24, 2014

รูปกริยาแบบต่างๆ ในประโยคเงื่อนไข
รูปกริยาในประโยคเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงแบบมาตรฐาน (คือเป็นแบบที่ใช้กันมาก) เท่านั้น ยังอาจใช้รูปกริยาอย่างอื่นได้อีก ซึ่งจะอธิบายโดยละเอียดยิ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่งดังต่อไปนี้

เงื่อนไขที่เป็นจริงเสมอ
เป็นกฎตายตัวว่าถ้ามีเหตุเกิดขึ้นเช่นนั้นก็จะได้ผลเช่นนั้นแน่นอน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด รูปกริยา คือ

(If+ Present) + Present

เช่น
1. If people are sleepy, they generally go to bed.
ถ้าคนง่วงนอน ก็มักจะเข้านอน (ถ้าง่วงก็ต้องไปนอนเป็นกฎตายตัว)

2. If my dog sees a stranger, he barks out loud.
ถ้าหมาของผมเห็นคนแปลกหน้า มันเห่าออกมาดังทีเดียว
(เป็นกฎตายตัวที่ผมเห็นเป็นประจำ)

3. If you speak Russian, I don’t understand you.
ถ้าคุณพูดภาษารัสเซีย ผมก็ไม่เข้าใจคุณ
(เพราะผมไม่รู้ภาษารัสเซีย เป็นความจริงอย่างไม่มีปัญหาที่ว่าผมจะไม่มีวันเข้าใจคุณ)

เงื่อนไขที่เป็นจริงเสมอ อาจลดความหนักแน่นลงได้ โดยใช้รูปกริยาดังนี้

(If+ Present) + Future

ธรรมดา: If water boils, it will change into steam.
หนักแน่น : If water boils, it changes into steam.
ถ้าน้ำเดือด มันจะกลายเป็นไอ

ธรรมดา:  If people are sleepy, they will go to bed.
หนักแน่น : If people are sleepy, they go to bed.
ถ้าคนง่วงเขาก็นอน

ธรรมดา: If my dog sees a stranger, he will bark out loud.
หนักแน่น : If my dog sees a stranger, he barks out loud.
ถ้าหมาของผมเห็นคนแปลกหน้า มันจะเห่าดังทีเดียว

ธรรมดา : If you speak Russian, he won’t understand you.
หนักแน่น : If you speak Russian, he doesn’t understand you.
ถ้าคุณพูดรัสเซีย เขาจะไม่รู้เรื่อง

Note. รูปกริยาซึ่งเขียนไว้ว่า Present ในกรอบข้างบนนี้ หมายความว่าจะเป็น Present แบบไหนก็ได้ เช่น อาจเป็น Present Simple หรือ Present Continuous ก็ได้ แล้วแต่ใจความที่ต้องการจะพูดเป็นหลัก สำหรับคำ Future ก็เช่นเดียวกัน จะเป็น Future แบบใดก็ได้แล้วแต่ความหมาย เช่น

1. If he begins tomorrow, he will finish it on Friday.
ถ้าเขาเริ่มพรุ่งนี้ เขาก็จะทำเสร็จในวันศุกร์

2. If he begins now, he will have finished it by noon.
ถ้าเขาเริ่มต้นแต่เดี๋ยวนี้ ถึงเที่ยงวันเขาก็คงทำเสร็จ

3. If my dog sees a stranger, he barks.
ถ้าหมาของผมเห็นคนแปลกหน้า มันจะเห่า

4. If my dog is barking, he lowers his head.
ถ้าหมาของผมกำลังเห่า มันจะเอาหัวลงต่ำ

5. If my dog has seen a stranger, he has found his enemy.
ถ้าหมาของผมเห็นคนแปลกหน้า ก็แสดงว่ามันได้พบศัตรูของมันแล้ว

6. If my dog has eaten raw meat, he will be sick.
ถ้าหมาของผมกินเนื้อดิบ มันจะไม่สบาย

7. If my dog is eating his meal, he won’t pay any attention to anything.
ถ้าหมาของผมกำลังกินอาหาร มันจะไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

8. If my dog is barking, he has found something wrong.
ถ้าหมาของผมกำลังเห่า แสดงว่ามันได้พบอะไรผิดปกติเข้าแล้ว

เงื่อนไขธรรมดา
เงื่อนไขธรรมดา คือเงื่อนไขซึ่งเราพบเห็นมากที่สุด เป็นเงื่อนไขซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตและปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงหรืออาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ รูปกริยาของเงื่อนไขแบบนี้ มีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับความมั่นใจมากน้อยของผู้พูดประโยคนั้นๆ ซึ่งอาจแยกได้ดังนี้

1. ผู้พูดเชื่อว่าเหตุการณ์น่าจะเกิดขึ้นอย่างที่สมมุตินั้น
2. ผู้พูดสมมุติขึ้นมาลอยๆ ไม่มีความแน่ใจอะไรเป็นพิเศษ

ถ้าผู้พูดเชื่อว่าเหตุการณ์น่าจะเกิดขึ้นจริงตามสมมุติ ใช้รูปกริยา

(If + Present) + Future

รูปกริยาที่เขียนไว้กว้างๆ ว่า Present หรือ Future นี้ หมายความว่าจะเป็น Present แบบใดก็ได้แล้วแต่ใจความ จะเป็น Future แบบใดก็ได้แล้วแต่ใจความ เช่น

1. If he leaves tomorrow, he will reach New York on Sunday.
ถ้าเขาออกเดินทางพรุ่งนี้ เขาก็จะไปถึงนิวยอร์ควันอาทิตย์

ผู้พูดแน่ใจว่าถ้าเขาออกเดินทางพรุ่งนี้ เขาจะไปถึงนิวยอร์ควันอาทิตย์แน่ๆ (การที่เขาแน่ใจเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าเขาเคยเดินทางมาแล้ว หรือว่าเขามีความรู้เกี่ยวกับการเดินทางเป็นอย่างดี)

2. If you drive too fast, you’ll get killed.
ถ้าคุณขับรถเร็วเกินไปคุณจะตายแน่
ผู้พูดมั่นใจ เพราะว่าเขาเคยเห็นตัวอย่างมามากแล้ว

3. If you invest in that business, you will be ruined.
ถ้าคุณลงทุนทำการค้าอันนั้นคุณจะหายนะ
ผู้พูดมั่นใจอาจเพราะว่าผู้พูดรู้ลู่ทางมาก่อนแล้ว จึงเชื่อว่าขืนลงทุนเป็นหมดตัวแน่ๆ

4. If you knock at the door, they will let you in.
ถ้าคุณเคาะประตู เขาก็จะเปิดรับ
ผู้พูดมั่นใจว่ามีคนอยู่ข้างในแน่ และถ้าคุณเคาะประตูพวกนั้นก็คงจะมาเปิดให้ ผู้พูดประโยคนี้มีความเชื่อมั่น ทำนองนี้

5. If you move, I’ll shoot you.
ถ้าคุณขยับเขยื้อน ผมเป็นยิงคุณ
เป็นความตั้งใจแน่วแน่ ว่าถ้าขืนขยับเป็นยิงแน่ ข้อนี้จะถือเป็นเงื่อนไขแบบที่ 1 คือเงื่อนไขที่เป็นจริงเสมอก็ได้ เพราะเข้าหลักอย่างเดียวกัน และรูปกริยาก็อย่างเดียวกัน

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า เงื่อนไขธรรมดา ซึ่งผู้พูดมีความมั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้นแน่ๆ ใช้รูปกริยาได้เช่นเดียวกับเงื่อนไขที่เป็นจริงเสมอ คือ

(If+ Present) + Future

เงื่อนไขที่จริงเสมอ : If water boils, it will change into steam.
เงื่อนไขที่ผู้พูดมั่นใจ: If you drive too fast, you will get killed.

Note. คำ “if” อาจวางไว้กลางประโยคก็ได้ เช่น
If my dog sees a stranger, he will bark out loud.
= My dog will bark out loud if he sees a stranger.

ข้อควรสังเกตคือ ถ้าวาง if ไว้กลางประโยค ไม่ต้องมี comma แยก clause ทั้งสองออกจากกัน ถ้าวาง if ไว้หน้าประโยคใช้ comma แยก clause แรกออกจาก clause หลัง

อย่างไรก็ตาม แม้จะวาง if ไว้ต้นประโยค แต่ถ้า if-clause เป็นข้อความสั้นๆ จะไม่ใช้ comma แยก clause ออกจากกันก็ได้ เช่น

If he sees me he will bark out loud.
= If he sees me, he will bark out loud.

และโดยหลักการเดียวกัน แม้จะวาง if ไว้กลางประโยค แต่ถ้า clause เป็นข้อความยาวๆ จะใช้ comma แยกออกจากกันก็ได้ เช่น

I am sure she will appreciate it very much, if somebody brings back her lost book.
ผมเชื่อว่าหล่อนจะยินดีมาก ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งนำหนังสือของหล่อนที่หายไปมาคืนให้

ประโยคนี้ถ้าไม่ใช้ comma ก็ไม่ผิด แต่ประโยคจะยาวมากเกินไป

ประโยค (If+Present) + Future อาจเน้นถึงความแน่ใจให้หนักแน่นยิ่งขึ้นได้ โดยใช้รูปกริยาดังนี้

If+ (is to หรือ are to + กริยาช่องที่ 1) + Future

มั่นใจ : If he leaves tomorrow, he will reach New York City on Sunday.
เน้นความมั่นใจ: If he is to leave tomorrow, he will reach New York City on Sunday.
ถ้าเขาออกเดินทางพรุ่งนี้ เขาก็จะถึงนครนิวยอร์ควันอาทิตย์

มั่นใจ : If you drive too fast, you’ll get killed.
เน้นความมั่นใจ: If you are to drive too fast, you’ll get killed.
ถ้าคุณขับรถเร็วเกินไปคุณจะตาย

เงื่อนไขธรรมดาแบบ (If+Present) + Future นี้ ถ้าเป็นคำกล่าวตักเตือน หรือเป็นทำนองสุภาษิต คำพังเพย จะใช้รูปประโยคดังนี้

Imperative + AND + Future

เช่น 1. See a pin and let it lie,
You’ll want a pin before you die.
(= If you see a pin and you do not pick it up, you will one day find yourself in need of a pin.)
ถ้าเห็นเข็มแล้วไม่เก็บ วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะนึกถึงมัน(เมื่อไม่มีเข็มจะใช้)

2. Spare the rod and spoil the child.
(= If you spare the rod, you’ll spoil the child.)
ถ้าไม่เฆี่ยนตี ก็จะทำให้เด็กเสีย(=รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี)

3. Give us tools and we will finish the job.
(= If you give us tools, we will finish the job.)
ถ้าให้เครื่องมือแก่เรา เราก็จะทำงานนั้นได้

เงื่อนไขในรูป  If+Present + Future ซึ่งเรียกว่าเงื่อนไขธรรมดานี้ คำว่า Future หมายความรวมถึง กริยาซึ่งมีความหมายเทียบเท่า (equivalent) ด้วย ได้แก่

(1) can, may, must, needn’t, have to, ought
(2) กริยาคำสั่งหรือคำขอร้อง (imperative)

ดังนั้นรูปกริยา If+ Present + Future จึงอาจเขียนเป็นตารางได้อีกอย่างหนึ่ง ดังนี้

(If+ Present) + will, shall, can, may, must, have to, ought to

หรือ    (If+ Present) + ประโยค Imperative

เช่น 1. If he comes, you must tell him the truth.
ถ้าเขามา คุณต้องบอกความจริงแก่เขา

2. If he comes, you ought to tell him the truth.
ถ้าเขามา คุณควรบอกความจริงแก่เขา

3. If he comes, tell him the truth.
ถ้าเขามา (จง) บอกความจริงแก่เขา

4. If he comes, don’t let him in.
ถ้าเขามาอย่าให้เขาเข้ามา

5. If he comes, please be nice to him.
ถ้าเขามาละก้อ ปฏิบัติต่อเขาให้ดีๆ หน่อย

6. Buy me a pound if you find good meat.
มาฝากฉันสักปอนด์หนึ่งนะ ถ้าคุณพบเนื้อดีๆ

ประโยคที่ไม่มี if นอกจากจะเป็นคำสั่ง คำขอร้องดังกล่าวแล้ว อาจเป็นคำถามหรือปฏิเสธก็ได้ (แต่รูปกริยา ก็คงต้องเป็นไปตามกฎ) เช่น

If he has seen her, he won’t be so sad.
ถ้าเขาได้พบหล่อนแล้ว เขาคงไม่เศร้า

If he sees her, will he dare to speak to her ?
ถ้าเขาพบหล่อน เขาจะกล้าพูดกับหล่อนไหม

If you have enough money, will you buy a color TV set ?
ถ้าคุณมีเงินพอ คุณจะซื้อทีวีสี สักเครื่องหนึ่งไหม

ถ้าผู้พูด พูดสมมุติขึ้นมาลอยๆ ไม่มีความแน่ใจอะไรเป็นพิเศษ คือไม่ถึงกับปักใจเชื่อว่า จะเป็นไปจริงตามเงื่อนไขนั้น แต่ก็ไม่ถึงกับจะไม่เชื่อ คงกล่าวสมมุติขึ้นมาอย่างเป็นกลาง ไม่หนักข้างไหน รูปกริยาที่ใช้ คือ

(If+ Past Simple)+(ประโยค would กริยาช่องที่ 1)
รวมทั้งค่าเทียบเท่าของ would เช่น should, could, might

ข้อควรระลึกในการสร้างประโยคโดยใช้รูปกริยาแบบนี้ คือ

(1) เหตุการณ์ตามที่สมมุตินั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น (ควรสังเกตว่า แม้กริยาจะมีรูป past แต่มีความหมายถึงปัจจุบันหรืออนาคตเท่านั้น)
(2) ผู้พูดไม่แน่ใจอะไรเป็นพิเศษ

ขอให้สังเกตจากคำอธิบายประกอบประโยคต่อไปนี้

1. If he left tomorrow, he would reach New York City on Sunday.
ถ้าเขาออกเดินทางพรุ่งนี้เขาก็จะไปถึงนิวยอร์ควันอาทิตย์

ผู้พูดไม่มีความแน่ใจอะไรเป็นพิเศษ อาจเป็นว่าผู้พูดมีความรู้เกี่ยวกับการเดินทางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่างกับประโยคข้อ 1 ในหัวข้อที่แล้ว คือถ้าผู้พูดมีความแน่ใจว่า ถ้าเขาออกเดินทางพรุ่งนี้แล้วเขาจะต้องถึงนิวยอร์ควันอาทิตย์ ผู้พูดก็จะใช้รูปกริยา lf+ Present + Future คือ

แน่ใจ: If he leaves tomorrow, he will reach New York City on Sunday.
ลอยๆ : If he left tomorrow, he would reach New York City on Sunday.

2. If you drove too fast, you would get killed.
ถ้าคุณขับรถเร็วเกินไป คุณจะตาย

ผู้พูดประโยคนี้กล่าวออกมาอย่างธรรมดา ไม่มีความแน่ใจเป็นพิเศษ คือคล้ายๆ กับว่าพูดออกมาเป็นเชิงเตือนอย่างปกติ อาจเป็นเพราะว่าผู้พูดยังไม่เคยเห็นคุณขับรถ หรืออาจเป็นเพราะว่าผู้พูดยังไม่เคยนั่งรถในถนนสายนี้ จึงไม่ทราบว่าถนนจะดีหรือไม่ หรืออาจจะมีเหตุอื่นๆ ซึ่งสรุปความได้ว่า ผู้พูดเพียงแต่พูดออกมาอย่างลอยๆ ไม่มั่นใจอะไรเป็นพิเศษ ในกรณีที่ผู้พูดมีความมั่นใจเป็นพิเศษ เขาก็จะใช้รูปกริยาเป็น If+Present + Future คือ

แน่ใจ : If you drive too fast, you’ll get killed.
ลอยๆ : If you drove too fast, you’d get killed.

3.  If you invested in that business, you would be ruined.
ถ้าคุณลงทุนในการค้าอันนั้น คุณจะหายนะ

ผู้พูดประโยคนี้พูดสมมุติขึ้นมาลอยๆ ไม่มีความแน่ใจเป็นพิเศษ คืออาจเป็นการคาดคะเน โดยความคิดธรรมดาของเขา เขาไม่มีความรู้ในการค้านั้นมากพอ หรือเขาอาจไม่สนใจนักเขาจึงไม่แสดงความแน่ใจออกมา ถ้าเขาแน่ใจว่าคุณจะหายนะแน่ๆ ถ้าลงทุนในการค้าอันนั้นแล้ว เขาก็จะใช้รูปกริยาเป็น  If+Present + Future คือ

แน่ใจ : If you invest in that business, you’ll be ruined.
ลอยๆ : If you invested in that business, you’d be ruined.

ประโยค  If+[กริยาช่อง 2] นี้ อาจเน้นให้หนักแน่นถึงความไม่แน่ใจ โดยใช้รูปกริยา

If+ (were to + กริยาช่องที่ 1) + [ประโยค would]
*ใช้ was to ในภาษาพูดก็ได้

ลอยๆ : If he left tomorrow, he would reach New York on Sunday.

ไม่แน่ใจ : If he were to leave tomorrow, he would reach New York on Sunday.

Cf. แน่ใจ : If he leaves tomorrow, he will reach New York on Sunday.
Cf.เน้นแน่ใจ : If he is to leave tomorrow, he will reach New York on Sunday.

ในกรณีที่เป็นการสมมุติอย่างเลือนลาง คือนอกจากผู้พูดจะไม่แน่ใจแล้วผู้พูดยังคิดเลยไปถึงว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็เป็นเรื่องของความบังเอิญ หรือโชคช่วยมากกว่า (ผู้พูดคิดว่า คงไม่มีทางเป็นไปอย่างที่สมมุติ ถ้าหากเป็นไปได้จริงก็เป็นเพราะโชคมากกว่า) การสมมุติอย่างเลือนลางเช่นนี้ใช้รูปกริยา

If+ [should + กริยาช่องที่ 1] + ประโยค would หรือ will

เช่น If he should leave at eight, he would (หรอ will) reach Bangkok at noon.
ถ้าเขาออกเดินทางเวลา 8 โมงเช้า เขาก็พอจะมีทางถึงกรุงเทพฯ เวลาเที่ยง

ผู้พูดเห็นว่าคงไม่มีทางถึงกรุงเทพ ฯ เวลาเที่ยงวันได้ ถ้ามาถึงเที่ยงวันได้ก็แสดงว่าโชคดีเต็มที เช่นลมคงจะแรงช่วยพัดใบเรือให้เดินทางได้เร็วขึ้น หรือว่าถ้าเดินทางโดยรถยนต์ก็คงถนนว่างเต็มที ไม่มีรถที่จะต้องแซงเลยเป็นต้น

ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบแสดงการสมมุติ เริ่มตั้งแต่การสมมุติอย่างเลือนลางที่สุด จนถึงมั่นใจที่สุด

เลือนลาง(โชค) : If he should leave at eight, he would (หรือ will) reach Bangkok at noon.

ไม่แน่ใจ : If he were to leave at eight, he would reach Bangkok at noon.

ธรรมดา : If he left at eight, he would reach Bangkok at noon.

แน่ใจ : If he leaves at eight, he will reach Bangkok at noon

แน่ใจมาก : If he is to leave at eight, he will reach Bangkok at noon.

เงื่อนไขซึ่งตรงข้ามกับความจริง
การสมมุติแบบนี้ใช้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว และผู้พูดก็ทราบว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร แต่ผู้พูดนำมาพูดสมมุติเสียใหม่ ตรงข้ามกับความจริงที่เกิดขึ้น รูปกริยาที่ใช้คือ

(If+Past Perfect) + [would have + กริยาช่องที่ 3]
หรือคำอื่นในทำนองเดียวกับ would เช่น should, could, might

ข้อควรระลึกในการสร้างประโยคโดยใช้รูปกริยาแบบนี้ คือ
1. เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว
2. ผู้พูดทราบว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร
3. ผู้พูดนำมาพูดสมมุติเสียใหม่
4. คำพูดสมมุตินี้ตรงข้ามกับความจริงที่เกิดขึ้น

ขอให้สังเกตจากคำอธิบายประกอบประโยคตัวอย่างต่อไปนี้

1. If he had seen her, he would have known it already.
ถ้าเขาพบหล่อน เขาก็คงจะรู้เรื่องนั้นหมดแล้ว
[ผู้พูดทราบว่าความจริงที่เกิดขึ้นคือ เขาไม่ได้พบหล่อน และดังนั้นเขาจึงยังไม่ได้รู้เรื่องนั้น]

2. If he had worked steadily, he would not have failed.
ถ้าเขาทำงาน (เรียน) อย่างสม่ำเสมอ เขาก็คงไม่สอบตก
[ผู้พบทราบว่าความจริงที่เกิดขึ้น คือ เขาไม่ได้ขยันเรียน เขาจึงสอบตก]

3. The soldiers would have fought better if they had been given clear orders.
พวกทหารจะต่อสู้ได้ดีกว่านั้น ถ้าพวกเขาได้รับคำสั่งที่ชัดเจน
[ผู้พูดทราบว่าความจริงที่เกิดขึ้นคือ พวกทหารไม่ได้รับคำสั่งที่ชัดเจน ดังนั้นพวกเขาจึงทำการสู้รบไม่ได้ดีเท่าที่ควร]

อาจใช้ Past Perfect Continuous แทน Past Perfect ธรรมดาได้ ถ้าต้องการให้มีความหมายถึงความต่อเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
เช่น
If he had been listening carefully, he wouldn’t have misunderstood.
ถ้าเขาได้ตั้งใจฟังมาตลอดเขาคงไม่เข้าใจผิด

ความจริงที่ผู้พูดประโยคนี้ทราบก็คือ เขาไม่ได้ตั้งใจฟังมาโดยตลอด ดังนั้นเขาจึงเข้าใจผิด

ผู้พูดไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดคะเนเอาเอง
การสมมุติแบบนี้ใช้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้พูดไม่ทราบว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร คงสมมุติขึ้นเอาเองตามความคิดของตน รูปกริยาที่ใช้ คือ

(If+ Past) + Future

ข้อควรระลึกในการสร้างประโยคโดยใช้รูปกริยาแบบนี้ คือ
1. มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว
2. ผู้พูดไม่ทราบว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร
3. ผู้พูดคาดคะเนผลเอาเองว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ (ซึ่งอาจจะถูกหรือจะผิดก็ได้)

ถ้าผลที่จะเกิดขึ้นนี้ ผู้พูดคาดว่าเกิดขึ้นมาแล้วก่อนพูดประโยคนี้ ใช้ Future Perfect ในรูป

(If+ Past) + Future Perfect

If he saw her yesterday, he will have told her the truth.
ถ้าเมื่อวานนี้เขาพบหล่อน เขาก็คงจะบอกความจริงแก่หล่อนไปแล้ว

ผู้พูดไม่ทราบว่าเมื่อวานนี้เขาพบหล่อนหรือไม่ และดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าเขาจะบอกความจริงแก่หล่อนแล้วหรือยัง แต่ผู้พูดคาดคะเนว่าเขาคงจะบอกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (คือก่อนการพูดประโยคนี้)

ถ้าผู้พูดคาดว่าผลจะเกิดภายหลังการพูดประโยคนั้น ใช้ Future Simple ในรูป

(If+ Past) + Future*
*จะเป็น Future ชนิดใด ขึ้นอยู่กับความหมายของแต่ละประโยค

1. If he left at six, he will reach Bangkok at noon.
ถ้าเขาออกเดินทางเวลาหกโมงเช้า เขาก็คงจะถึงกรุงเทพฯ เวลาเที่ยงวัน

ผู้พูดไม่ทราบว่าเขาออกเดินทางเมื่อใด แต่ถ้าออกเวลาหกโมงเช้าแล้ว ผู้พูดเชื่อว่าเขาจะถึงกรุงเทพฯ เวลาเที่ยงวัน ประโยคนี้ will reach เป็น Future Simple แสดงว่าขณะที่พูดประโยคนี้ยังไม่ถึงเวลาเที่ยงวัน ขอให้เปรียบเทียบกับประโยคข้อ 2 ซึ่งใช้ will have reached (Future Perfect แสดงว่าขณะที่พูดประโยค ข้อ 2 ได้เลยเวลาเที่ยงวันมาแล้ว)

2. If he left at six, he will have reached Bangkok at noon.
ถ้าเขาออกเดินทางเวลา 6 โมงเช้า เขาก็คงจะถึงกรุงเทพฯ ไปแล้วตั้งแต่เที่ยงวัน

ผู้พูดไม่ทราบว่าเขาออกเดินทางเวลา 6 โมงเช้าหรือไม่ แต่เชื่อว่าถ้าออกเวลา 6 โมงจริง ก็คงถึงกรุงเทพฯ ไปแล้วตั้งแต่เที่ยง ขณะที่พูดประโยคนี้ เลยเวลาเที่ยงวันมาแล้ว

3. If he studied hard as he said, he will not fail.
ถ้าเขาขยันเรียนอย่างเขาว่า เขาคงไม่ตก

ผู้พูดไม่ทราบว่าเขาได้ขยันเรียนมาจริงอย่างเขาว่าหรือไม่ แต่คิดว่าถ้าหากเขาขยันจริงอย่างว่า เขาก็คงไม่ตก ประโยคนี้ใช้ will not fail ซึ่งเป็น Future ธรรมดา แสดงว่าขณะที่พูดประโยคนี้การสอบยังมาไม่ถึง (จะ มาถึงในอนาคตข้างหน้า)

4. If he studied hard as he said, he will not have failed.
ถ้าเขาขยันเรียนจริงอย่างเขาว่า เขาก็คงจะไม่ตกแล้วละ

ประโยคนี้ใช้ will not have failed ซึ่งเป็น Future Perfect แสดงว่าขณะที่พูดประโยคนี้การสอบได้ผ่านไปแล้ว ผู้พูดไม่รู้ว่าเขาขยันจริงหรือไม่และก็ไม่รู้ว่าเขาสอบได้หรือตก ผู้พูดเพียงแต่คาดคะเนเท่านั้นว่าถ้าเขาขยันเรียนจริงอย่างเขาว่า เขาก็คงสอบได้ไปแล้ว

เงื่อนไขซึ่งเป็นไปไม่ได้
ประโยคเงื่อนไขแบบนี้เป็นแบบง่ายที่สุด เพราะมีกรณีเพียงกรณีเดียว คือข้อความของประโยค if เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ (impossible) เช่น ถ้าฉันเป็นนก … หรือ ถ้าฉันเป็นเธอ… เป็นต้น รูปกริยาที่ใช้ คือ

(If+ Past Simple) + [would + กริยาช่องที่ 1]
หรือเทียบเท่า would เช่น should, could, might

กริยาใน Past Simple ถ้าเป็น verb to be นิยมใช้ were เสมอ ฟังในภาษาพูดและภาษาเขียน (แต่จะใช้ was ก็ไม่ถือว่าผิด)

1. If I were you, I wouldn’t accept the plan.
ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะไม่ยอมรับแผนการอันนั้น

2. If he were the president of the United States, what could he do in this case ?
ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาจะสามารถทำอะไรในกรณีนี้

3. If I were on Mars, would I weigh more or less ?
ถ้าผมอยู่บนโลกพระอังคาร ตัวผมจะหนักขึ้นหรือเบาลง
[เป็นไปไม่ได้ (อย่างน้อยก็ในขณะนี้) ที่ผมจะไปอยู่บนโลกพระอังคาร ประโยคนี้อาจถือเป็นเงื่อนไขธรรมดาก็ได้]

เปรียบการใช้รูปกริยาในเงื่อนไขแบบต่าง ๆ ที่พบเห็นอยู่เสมอ
ประโยคต่อไปนี้ใช้รูปกริยาต่างกัน ดังนั้นความหมายจึงแตกต่างกัน

1. If he begins the work by himself, he doesn’t succeed.
2. If he begins the work by himself, he won’t succeed.
3. If he began the work by himself, he wouldn’t succeed.
4. If he had begun the work by himself, he wouldn’t have succeeded.
5. If he began the work by himself, he won’t succeed.
6. If he began the work by himself, he won’t have succeeded.

รูปกริยาในข้อ 1 ถึง 4 เป็นรูปที่เราพบเห็นมากที่สุด ความหมายของประโยคทั้ง 6 มีดังนี้

1. If he begins the work by himself, he doesn’t succeed.
ข้อนี้ใช้ If+ Present + Present แสดงว่าเป็นกฎหมายตายตัว หรือผู้พูดได้พบเห็นเป็นประจำจนสรุปเป็นกฎได้ ประโยคหมายความว่า ผู้พูดได้พบเห็นจนตั้งเป็นกฎได้ว่า ถ้าเขาคนนั้นเริ่มต้นทำงานโดยลำพังแล้ว ไม่มีวันที่เขาจะทำได้สำเร็จ

2. If he begins the work by himself, he won’t succeed.
ข้อนี้ใช้ If+Present + Future แสดงว่าเป็นเงื่อนไขที่ผู้พูดมั่นใจ แต่ไม่ถึงกับได้เคยพบเห็นจนตั้งเป็นกฎได้ เหมือนข้อ 1 สำหรับข้อนี้เพียงแต่ผู้พูดมั่นใจมากเท่านั้นว่า ถ้าเขาเริมต้นทำงานนั้นโดยลำพังคนเดียวแล้ว เขาจะไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะผู้พูดมีความรู้ว่างานนั้นจะเริ่มต้นด้วยคนๆ เดียวไม่ได้ หรือผู้พูดอาจจะรู้มาก่อนว่า เขาคนนั้นไม่เคยทำงานชนิดนั้นมาก่อน ดังนั้นผู้พูดจึงมั่นใจว่า ถ้าเขาทำคงไม่สำเร็จแน่

3. If he began the work by himself, he wouldn’t succeed.
ข้อนี้ใช้ If+ Past + [would + กริยาช่องที่ 1] แสดงว่ามีความหมายเหมือนข้อ 2 ทุกประการ เพียงแต่ผู้พูดไม่มั่นใจเท่านั้น ควรสังเกตอีกด้วยว่า แม้กริยาจะมีรูปเป็น past แต่มีความหมายเป็น Present หรือ Future เท่านั้น

4. If he had begun the work by himself, he wouldn’t have succeeded.
ข้อนี้ใช้ If+ Past Perfect + [would have + กริยาช่อง 3] แสดงว่าเป็นการสมมุติตรงข้ามกับความจริงซึ่ง ได้เกิดขึ้นแล้ว และผู้พูดก็รู้ว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไร แต่นำมาพูดสมมุติเสียใหม่ ตรงข้ามกับความจริงที่เกิดขึ้น ประโยคข้อนี้แปลว่า ถ้าเขาเริ่มต้นทำงานนั้นด้วยตนเองแล้วเขาก็คงจะทำไม่สำเร็จหรอก หมายความว่าความจริงที่เกิดขึ้น (ซึ่งผู้พูดรู้) คือเขาคนนั้นไม่ได้เริ่มงานนั้นลำพังตนเอง (ดังนั้น) งานจึงสำเร็จ

5. If he began the work by himself, he won’t succeed.
ข้อนี้ใช้ If+Past + Future Simple แสดงว่าเป็นการสมมุติในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้พูดไม่ทราบว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร ผู้พูดเพียงแต่เดาหรือคาดคะเนเอาเอง ประโยคข้อนี้หมายความว่า ผู้พูดไม่ทราบว่า เขาเริ่มงานนั้นด้วยตนเองหรือไม่ แต่ผู้พูดคิดว่า ถ้าเขาได้เริ่มงานนั้นโดยลำพังตนเองมาแล้ว งานนั้นคงจะไม่สำเร็จ (ผู้พูดคิดว่าขณะที่พูดนี้เขาก็คงทำอยู่ แต่ถึงจะทำต่อไปก็คงจะไม่สำเร็จ)

6. If he began the work by himself, he won’t have succeeded.
ข้อนี้ใช้ If+Past + Future Perfect แสดงว่าเป็นการสมมุติในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้พูดไม่ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ผู้พูดคิดเอาเองว่าคงจะเป็นอย่างนั้นๆ ประโยคข้อนี้หมายความว่าผู้พูดไม่ทราบว่า เขาคนนั้นเริ่มทำงานนั้นด้วยตนเองหรือไม่ แต่ผู้พูดคิดว่าถ้าเขาได้เริ่มงานนั้นโดยลำพังตนเองแล้ว งานนั้นก็คงล้มเหลวไปแล้ว (คือได้ล้มเหลวไปก่อนที่ผู้พูดจะพูดประโยคนี้) ขอให้เปรียบกับประโยคข้อ 5 ซึ่งต่างกับข้อ 6 นี้ เพราะในข้อ 6 ขณะที่ผู้พูดพูดประโยคนั้น ผู้พูดคิดว่าการทำงานได้ล้มเหลวลงไปแล้วก่อนการพูดประโยคนั้น (คือผู้พูดคิดว่าการทำไม่สำเร็จเกิดขึ้นก่อนการพูดประโยคนั้น)

แบบการใช้รูปกริยาในประโยคเงื่อนไขโดยพิสดาร

ที่มา:เลิศ  เกษรคำ