ประเภทและชนิดของภาษาอังกฤษ แต่ละแบบ

By | December 24, 2014

ความยิ่งใหญ่ของภาษาอังกฤษ เกิดจากการแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ย่อมเป็นธรรมดาที่ภาษาอังกฤษจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปต่างจากเดิมอยู่บ้าง เกิดเป็นภาษาอังกฤษชนิดต่างๆ หลายชนิด

ชนิดของภาษาอังกฤษที่เราคุ้นหูมากที่สุด อาจได้แก่ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (American English) ซึ่งมักใช้คู่กับภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English)

นอกจากนี้ อาจได้ยินคำว่า Standard English คู่กับ Substandard English และ Formal English คู่กับ Informal English ฯลฯ

American English
กล่าวง่ายๆ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันก็คือภาษาอังกฤษแบบที่ชาวอเมริกันนำมาใช้ ซึ่งมีหลายอย่างต่างไปจากภาษาอังกฤษแบบที่ชาวอังกฤษจริงๆ ใช้ (ซึ่งยังต้องพูดต่อไปอีกว่า ชาวอังกฤษจริงๆ ที่ว่านี้ คือชาวอังกฤษที่ไหน)

ปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน เป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายมากกว่าภาษาอังกฤษแบบอังกฤษเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำของโลก มีอิทธิพลทั้งทางด้านการทหาร การเมือง การเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และวิธีวิทยา (technology) ทำให้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเข้าไปแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั่วโลก

วารสารชั้นนำของโลก เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
หนังสือพิมพ์รายวันชั้นนำของโลก เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
ตำรา หนังสือเรียนในทุกสาขาวิชาที่พิมพ์มากที่สุดในโลก เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
ภาพยนตร์ โทรทัศน์ที่แพร่หลายที่สุดในโลก ใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน

ประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในโลก คือญี่ปุ่น และเยอรมัน ใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (เนื่องจากผูกพันกับสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และสหรัฐอเมริกาก็เข้าไปมีฐานทัพถาวร และธุรกิจการค้า การเมือง อยู่ในประเทศทั้งสองนี้ เป็นเวลานานนับสิบๆ ปี)

ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันจึงเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดอยู่ในขณะนี้

ภาษาอังกฤษแบบอื่น ๆ
ภาษาอังกฤษมิได้มีเฉพาะภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ กับภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเท่านั้น ยังมีภาษาอังกฤษแบบอื่นๆ ในส่วนต่างๆ ของโลกอีก เช่น ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย แบบนิวซีแลนด์ แบบแอฟริกาใต้ แบบอินเดีย แบบสิงคโปร์-ฮ่องกง นอกเหนือไปจากภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาถิ่น ในสหราชอาณาจักรเอง เช่น ภาษาอังกฤษแบบสก็อตช์ หรือภาษาอังกฤษแบบไอริช เป็นต้น

ภาษาอังกฤษแบบต่างๆ เหล่านี้ ที่จริงแล้วก็มิได่แตกต่างไปจากภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English) จะเรียกว่าเหมือนกันก็ว่าได้ เพราะข้อแตกต่างมักจะอยู่ที่สำเนียง และคำศัพท์บางคำ ซึ่งเป็นคำภาษาพื้นเมืองที่มีลักษณะพิเศษเท่านั้น เช่น

burgh (สก็อตช์) = borough
dorp (แอฟริกาใต้) = village
whare (นิวซีแลนด์) = hut
paddock (ออสเตรเลีย) = field

นอกจากคำศัพท์แล้วยังมีสำนวนพูดบางอยาง ซึ่งเป็นสำนวนท้องถิ่น คือเป็นสำนวนที่เข้าใจรู้เรื่องกันเฉพาะในประเทศเหล่านั้นเท่านั้น ถ้านำไปพูดในประเทศอื่น ซึ่งแม้จะพูดภาษาอังกฤษเหมือนกัน ก็อาจไม่เข้าใจ เช่น ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย ต่อไปนี้

Are you feeling better? Too right, mate; she’ll be jake.
(= Are you feeling better? Absolutely, old man; everything will be fine.)

อย่างไรก็ตาม คำศัพท์และสำนวนที่แตกต่างกันไปตามถิ่นตามประเทศเช่นนี้มีไม่มาก และ ไม่ใคร่จะมีปัญหา

ต่างจากภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน

ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันนั้น นอกจากจะมีคำศัพท์บางคำต่างออกไป และมีสำนวนบางสำนวนที่ไม่มีในภาษาอังกฤษแบบอังกฤษแล้ว ยังมี
การสะกดคำหลายคำ ต่างไปจากภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ

การใช้เครื่องหมายและกฎเกณฑ์ทางภาษาหลายอย่าง ต่างไปจากภาษาอังกฤษ ซึ่งนับเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนของภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ทั้งๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากภาษาอังกฤษในเมืองแม่เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ว่าที่จริงแล้ว ออสเตรเลียอยู่ห่างไกลจากประเทศอังกฤษเสียยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา เหตุใดภาษาอังกฤษในออสเตรเลียจึงยังคงแทบไม่แตกต่างจากภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษ คำตอบอยู่ในหัวข้อต่อไปนี้

กำเนิดภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
ในสมัยที่ชาวยุโรปออกล่าอาณานิคมทั่วโลกนั้น อังกฤษนับเป็นชาติที่มีอาณานิคมมากมาย กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมโลก จนถึงมีคำกล่าวว่า อังกฤษเป็นดินแดนที่ตะวันไม่ตก (The land the sun never sets.) ความกว้างไกลของอาณาจักรอังกฤษ ทำให้มีคนอังกฤษอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก ซึ่งแปลว่า ภาษาอังกฤษมีใช้อยู่ทั่วไปในโลก ชาติต่างๆ ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก็ต้องรับภาษาอังกฤษไปใช้ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทำให้ภาษาอังกฤษแผ่ขยายกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนแม้บางประเทศจะได้รับเอกราชหลุดพ้นจากอังกฤษไปแล้ว ก็ไม่สามารถสลัดทิ้งภาษาอังกฤษไปได้ ไม่ใช่เพราะประโยชน์ของภาษาอังกฤษอย่างเดียว แต่เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากกลุ่มชนในชาติมีมากมายหลายภาษา พูดจากันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเพื่อติดต่อสื่อสารกัน อย่างในประเทศอินเดียเป็นต้น

เมื่ออังกฤษไปตั้งอาณานิคมในภาคตะวันออกของอเมริกา ความจริงประชาชนทั้งหมดไม่ใช่ชาวอังกฤษล้วนๆ แต่ประกอบด้วยชนชาติชาวยุโรปหลายชาติ เช่น ฮอลันดา เยอรมัน ฝรั่งเศส รวมทั้งชาวสเปน ซึ่งไปตั้งรกรากเป็นเจ้าถิ่นดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว

ความที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมอเมริกา สินค้าต่างๆ หนังสือต่างๆ ล้วนนำมาจากประเทศอังกฤษ ทำให้คนหลายๆ ชาติในอาณานิคมต้องหันมาใช้ภาษาอังกฤษกันทีละเล็กละน้อย แทบจะไม่ได้ใช้ภาษาเดิมของตน จนในที่สุดเป็นภาษาประจำชาติในปัจจุบัน

แต่ภาษาอังกฤษนั้นก็กลายเป็นภาษาอเมริกัน

คนจำนวนมากเรียกภาษาของเขาว่าภาษาอเมริกัน แทนที่จะพูดว่าภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน แม้ทางการจะยังคงเรียกภาษาประจำชาติว่าภาษาอังกฤษ (English) ก็ตาม

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาษาอเมริกันก็คือสงครามเพื่อประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอเมริกัน เป็นการต่อสู้ที่ขมขื่น กองทัพอังกฤษได้สังหารคนอเมริกันอย่างทารุณโหดเหี้ยม และปราศจากคุณธรรมเท่าที่ควร ทหารอเมริกันนั้นก็คือชาวบ้านธรรมดา ที่อาสาเข้าต่อสู้กับทหารที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี มีหลายครั้งที่กองทหารขนาดใหญ่ของอเมริกัน ถูกกองทหารอังกฤษบดขยี้อย่างไร้เมตตาปรานี จนแทบสูญสลายทั้งกองทัพ สร้างความเจ็บชํ้าน้ำใจแก่ชาวอเมริกันอย่างแสนสาหัส เกิดอารมณ์เคียดแค้นทหารอังกฤษอย่างฝังใจ และกลายเป็นความโกรธอาฆาตแค้น ทั้งๆ ที่ความจริงคนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คือคนอังกฤษ และลูกหลาน ซึ่งสืบสายเลือดมาจากคนอังกฤษแท้ๆ ที่อพยพไปจากประเทศอังกฤษนั่นเอง

คนเหล่านั้นไม่ได้โกรธแค้นเฉพาะทหารอังกฤษ
แต่โกรธเกลียดทุกอย่างที่เป็นอังกฤษ
เกลียดระบบการปกครองแบบอังกฤษ
เกลียดแนวคิดทางการเมือง การเศรษฐกิจ และสังคมแบบอังกฤษ
และ ท้ายที่สุด เกลียดภาษาอังกฤษ

ในบรรดาคนที่เกลียดทุกอย่างที่เป็นอังกฤษเอามากๆ เห็นจะไม่มีใครเกิน นายเว็บสเตอร์ (Noah Webster) คนผู้นี้เกิด พ.ศ. 2301 (ค.ศ. 1758) และมีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ. 2386 (ค.ศ. 1843) เขาเกิดที่เมือง Hartford ในรัฐ Connecticut เรียนกฎหมายที่ Yale (ครั้งนั้นยังเป็น college) แต่สมัยนั้นธุรกิจยังไม่รุ่งเรือง อาชีพกฎหมายเป็นอาชีพที่ฝืดเคือง จึงเลิกอาชีพกฎหมาย หันมาเป็นครู

เมื่อมาเป็นครูสอนหนังสือ เขาเป็นครูหนุ่มไฟแรง ตอนนั้นเพิ่งอายุยี่สิบเศษๆ เขาไม่พอใจหนังสือแบบเรียนต่างๆ อย่างยิ่ง สมัยนั้นตำรับตำราต่างๆ ล้วนสั่งมาจากอังกฤษทั้งสิ้น เขาเกลียดแนวคิดแบบอังกฤษในตำราแบบเรียนเหล่านั้น จึงแต่งตำราเรียนขึ้นเอง รวมทั้งตำราไวยากรณ์ และการสะกดตัว (spelling) หนังสือชื่อ American Spelling ของเขา จำหน่ายขายดีและใช้แพร่หลาย ต่อมาอีกนานถึงกว่า 100 ปี

คำทำนายของเว็บสเตอร์
ในหนังสือ dictionary เล่มแรกของ Webster ซึ่งเป็นพจนานุกรมเล่มเล็กๆ เขาได้แสดงความกล้าหาญ โดยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ดังนี้

…In each of the countries peopled by Englishmen, a distinct dialect of the language will gradually be formed; the principal of which will be that of the United States. In fifty years from this time, the American English will be spoken by more people, than all the other dialects of the language, and in one hundred and thirty years, by more people than any other language on the globe, not excepting Chinese ….

(. . . ในแต่ละประเทศของบรรดาประเทศทั้งหลายที่ชาวอังกฤษเข้าไปตั้งรกราก จะมีแขนงภาษาใหม่ ของภาษาอังกฤษค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ในจำนวนนี้แขนงที่เด่นชัดจะเป็นแขนงของสหรัฐอเมริกา ในอีก 50 ปีจากนี้ไป ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน จะมีคนพูดมากกว่าแขนงภาษาอังกฤษอื่นๆ และในอีก 130 ปี จะมีคนพูดมากกว่าภาษาใดๆ บนพื้นพิภพ โดยไม่ยกเว้นภาษาจีน. . . .)

คำทำนายนี้นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ต้องถือว่า Webster เป็นอัจฉริยบุคคลอย่างแท้จริง เพราะสามารถทำนายอนาคตล่วงหน้าได้อย่างใกล้เคียงที่สุด ปัจจุบันนี้ ภาษาอเมริกันมีคนใช้ทั่วโลก อิทธิพลของภาษาอเมริกันแทรกซึมอยู่ในทุกภาษา แม้แต่ภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษเมืองแม่เอง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทุกวันนี้คนอังกฤษต้องรับภาษาอเมริกันไปใช้มากมาย โดยเฉพาะภาษาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบันเทิง การค้า การทหาร และการอุตสาหกรรม

ประชากรที่พูดภาษาอังกฤษในโลกปัจจุบัน (พ.ศ. 2534) โดยประมาณมีดังนี้

สหรัฐ (อเมริกา) 251 ล้าน
สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) 57 ล้าน
แคนาดา 27 ล้าน
ออสเตรเลีย 17 ล้าน
นิวซีแลนด์ 4 ล้าน
รวม 356 ล้าน

และถ้านับรวมประชากรในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษบางส่วน เช่น สหภาพแอฟริกาใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์แล้ว ก็จะมากกว่านี้อีกประมาณไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เป็น 366 ล้านคน

จากตัวเลข 366 ล้านคนนี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับประชากรในประเทศจีน ซึ่งมี 1,130 ล้าน อินเดีย 850 ล้าน (พ.ศ. 2534) อาจเห็นว่าเว็บสเตอร์ทำนายผิด แต่ที่จริงแล้ว ประชากรในประเทศจีน พูดภาษาต่างๆ กันนับเป็นสิบภาษา เช่น แมนดาริน กวางตุ้ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ แต้จิ๋ว และภาษาของชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น กลุ่มไท ธิเบต มองโกล อาหรับ เป็นต้น สำหรับอินเดียยิ่งมีเป็นร้อยๆ ภาษา เมื่อจำแนกจำนวนประชากรของแต่ละภาษา ปรากฏว่าไม่มีภาษาใดมีประชากรเกินกว่า 200 ล้านคนเลย คำทำนายของเว็บสเตอร์จึงถูกต้องอย่างไม่น่าเชื่อ

ภาษาอเมริกัน
ถ้าจะว่าไปแล้ว ความคิดของ Webster ก็ออกจะแปลกๆ ที่อยู่ดีๆ ก็ไปเปลี่ยนแปลงการสะกดตัว คำภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีความจำเป็นอันใด

แต่ Webster ทำ เพราะเกลียดอะไรๆ ที่เป็นอังกฤษ
คนอเมริกันก็ชอบใจ เพราะเกลียดเหมือนกัน

ที่ชอบใจนั้น นอกจากเรื่องการสะกดตัว (spelling) แล้ว ยังชอบใจการที่ Webster ให้คำจำกัดความ (บทนิยาม) คำต่างๆ เสียใหม่ให้ชัดเจนขึ้น และถูกต้องตรงตามทัศนคติของคนอเมริกันที่รักอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่นิยมการกดขี่ อะไรที่เป็นทัศนะแบบอังกฤษ ซึ่งคับแคบ เจ้าขุนมูลนาย และปิดกั้น เขาก็จัดการเขียนความหมายเสียใหม่ เป็นแบบเปิดกว้าง และอิสระเสรี ตามทัศนะของคนอเมริกัน โดยเฉพาะศัพท์เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง เช่น คำว่า congress, senate, assembly และ court เป็นต้น

แนวความคิดของ Webster เป็นที่พออกพอใจของคนอเมริกันทั่วไป และแพร่กระจายไปในหมู่คนทุกชั้น ตั้งแต่ระดับกรรมกร ชาวนา ชาวไร่ ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของประเทศ

ใน พ.ศ. 2326 (ค.ศ. 1783) ขณะที่สภาคองเกรสของสหรัฐกำลังพิจารณาทำสัญญาทางการค้ากับประเทศฮอลแลนด์อยู่ ก็ได้พบว่า คำแปลเป็นภาษาอังกฤษของสัญญาดังกล่าวมีหลายแห่งที่เข้าใจยาก สมาชิกสภาตีความศัพท์สำนวนไปคนละทางสองทาง นายเจมส์ แมดิสัน (James Madison) สมาชิกสภาผู้หนึ่ง (ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดี คนที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2353) ได้บอกกับนายจอห์น แอดัมส์ (John Adams) ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเนเธอร์แลนด์ (ต่อมาเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 2 ใน พ.ศ. 2340) ว่า ควรแก้ไขข้อความในสัญญาให้ชัดเจนแจ่มชัด โดยใช้ American language!

อาจเป็นครั้งแรกในโลกที่คำว่า American language หรือ “ภาษาอเมริกัน’’ ได้อุบัติขึ้น

ทุกวันนี้ พจนานุกรมที่ถือกันว่าดีที่สุด จำหน่ายแพร่หลายมากที่สุด ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในสหรัฐ ก็ยังคงมีคำว่า “ภาษาอเมริกัน” ปรากฏอยู่ คือ

Webster’s New World Dictionary of the American Language

ที่มา:เลิศ เกษรคำ