จำเป็นต้องเรียนไวยากรณ์ (แกรมม่า – Grammar) ภาษาอังกฤษหรือไม่

By | December 24, 2014

เป็นข้อถกเถียงกันมานาน

มีผู้กล่าวว่า เราเกิดมาก็พูดได้ ฟังได้รู้เรื่อง ไม่เห็นจำเป็นต้องเรียนหลักภาษาไวยากรณ์อะไรเลย คนไทยเกิดมาก็พูดภาษาไทย ใช้ภาษาไทยได้ โดยไม่ต้องเรียนไวยากรณ์ไทย คนอังกฤษเกิดมาก็พูดภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาอังกฤษได้ โดยไม่ต้องเรียนไวยากรณ์อังกฤษ

นั่นเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง

คนเราไม่จำเป็นต้องเรียนหลักภาษาไวยากรณ์เลย ถ้าเขาต้องการเพียงสักแต่ว่าพูดได้ ใช้ภาษาได้ ปัญหาอยู่ที่ว่า เขาพูด เขาใช้ภาษาได้ดีเพียงใด และสื่อสารได้ตามความต้องการแค่ไหน

อาจมีคนทักท้วงว่า ขอให้พูดอังกฤษได้ใช้ภาษาอังกฤษได้ แค่คนอังกฤษธรรมดาๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องถึงระดับดีหรอก

ก่อนตอบคำถาม หรือข้อทักท้วงข้างบนนี้ ควรทำความเข้าใจว่า คนอังกฤษพูดภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาอังกฤษได้ ก็เพราะเขาได้ยิน เขาหัดพูด หัดใช้มาตั้งแต่เกิด เขาฟัง เขาจำ พูดผิด พูดถูก เติม s เดิม ed ผิดบ้าง ถูกบ้าง ขัดเกลาแก้ไขจนจับหลักได้ เท่ากับเป็นการเรียนหลักภาษาไวยากรณ์ไปในตัว อย่างที่เรียกว่า เรียนโดยวิธีธรรมชาติ

เราคนไทยจะไปเรียนภาษาอังกฤษ โดยวิธีธรรมชาติได้อย่างไร
ธรรมชาติอังกฤษอยู่ที่ไหน เห็นมีแต่ธรรมชาติไทยไปทั้งหมด ไม่มีคนอังกฤษที่ไหนมาช่วยฝึกฝน สิบปีจะได้พูดภาษาอังกฤษกับใครสักหนก็เปล่า กี่เดือนจะได้ยินภาษาอังกฤษสักที มีบ้างไหม ครั้นจะหยิบหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่าน ซึ่งก็พอจะหาได้ไม่ยากนัก แต่ก็อ่านไม่ออก ศัพท์ต่างๆ พอจะหาคำแปลได้ แต่ถึงรู้คำแปลศัพท์ทุกคำ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะไม่รู้หลักภาษาไวยากรณ์

จะเรียนไวยากรณ์แบบไหน
หลักภาษา หรือไวยากรณ์อังกฤษที่เราควรศึกษา จะต้องเป็นไวยากรณ์เพื่อการเรียนภาษา ไม่ใช่ไวยากรณ์เพื่อไวยากรณ์

ไวยากรณ์เพื่อไวยากรณ์ก็อย่างไวยากรณ์ไทยที่คนไทยเรียน หรืออย่างไวยากรณ์อังกฤษ ที่คนอังกฤษเรียน ไวยากรณ์อย่างนี้ไม่ใช่ไวยากรณ์เพื่อการเรียนภาษา เพราะคนไทย ถึงไม่ได้เรียน ไวยากรณ์ไทยก็รู้ภาษาไทย ใช้ภาษาไทยได้ คนอังกฤษถึงไม่ได้เรียนไวยากรณ์อังกฤษ ก็รู้ภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาอังกฤษได้

ไวยากรณ์อังกฤษที่เราคนไทยควรเรียน คือไวยากรณ์อังกฤษเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อรู้ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ไวยากรณ์อังกฤษอย่างที่คนอังกฤษเรียน

ชนิดของไวยากรณ์
เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ของไวยากรณ์ สมควรนำไวยากรณ์ชนิดต่างๆ มาแสดงไว้พอสับเขป ดังนี้

1. Traditional Grammar
เมื่อกล่าวถึง grammar แทบทุกคนจะนึกถึง the eight parts of speech คือ noun, pronoun, adjective, verb, adverb, preposition, conjunction และ interjection ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมาการศึกษาหลักภาษาอังกฤษหรือไวยากรณ์อังกฤษก็คือการศึกษา parts of speech โดยถือว่าคำทั้งหมด ในภาษาอังกฤษอยู่ในคำ 8 ชนิดนี้ เมื่อศึกษาชนิดและหน้าที่ของคำครบทั้ง 8 ชนิด ก็ถือว่าจบการศึกษา หลักภาษาหรือไวยากรณ์แล้ว

ไวยากรณ์ซึ่งยึดหลัก the eight parts of speech เช่นนี้ เรียกว่า traditional grammar (ไวยากรณ์ประเพณี)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตำราไวยากรณ์อังกฤษปัจจุบันจะพัฒนาไปจากเดิมเป็นอันมาก และมีรายละเอียดในส่วนอื่นเท่าๆ หรือมากกว่า parts of speech แต่ถ้ายังคงยึดหลัก the eight parts of speech ก็อนุโลมว่าเป็น traditional grammar ทั้งสิ้น

2. Functional Grammar

ไวยากรณ์การยะ หรือ functional grammar มีความหมายเป็น 2 นัย นัยที่หนึ่ง หมายถึง การจำแนกชนิดของคำโดยถือหน้าที่ของมันเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ คำแทน (substantive) คำกริยา (verb) คำขยาย (modifier) คำเชื่อม (connective) และคำเติม (complement)

คำแทน (substantive) ได้แก่ noun, pronoun และ noun equivalent (คำเสมอนาม)
คำขยาย (modifier) ได้แก่ adjective และ adverb
คำเชื่อม (connective) ได้แก่ preposition และ conjunction

ความหมายนัยที่สองหมายถึง การอธิบายกฎเกณฑ์ต่างๆ เฉพาะเท่าที่มีใช้จริงตามสภาพ การใช้ภาษาในแต่ละกรณี เช่น นักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษในระดับมัธยม ควรเรียนไวยากรณ์อังกฤษเท่าที่จำเป็นต้องใช้ในหนังสือเรียน หรือเท่าที่พบเห็นเป็นประจำ หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษา พ.ศ. 2503 ของกระทรวงศึกษาธิการเคยกำหนดชัดเจนว่า การสอนไวยากรณ์ชั้นต่างๆ ควรเป็น functional grammar

3. Jespersen Grammar
ผู้สร้างระบบนี้ คือ Otto Jespersen นักไวยากรณ์อังกฤษชาวเดนมาร์ก หลักการของ Jespersen คือ แยกคำอังกฤษออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ ได้แก่ ชั้นคำ (word class) และ ศักดิ์คำ (word rank)

สำหรับ word class นั้น ยังคงถือตาม traditional grammar คือมี class เป็น 8 ชนิด (เช่นเดียวกับ the eight parts of speech) แต่ Jespersen เน้นหนักในรูปของคำและความหมาย

ส่วน word rank นั้น Jespersen แบ่งออกเป็น 3 ศักดิ์ หรือ 3 ขั้น ได้แก่ primary (ขั้นต้น) secondary (ขั้นสอง) และ tertiary (ขั้นสาม) เช่นในข้อความว่า

highly praised winner
คำ winner อยู่ในขั้นต้น (primary) คำ praised ขยาย winner ซึ่งเป็นขั้นต้นจึงจัดอยู่ใน ขั้นสอง (secondary). และคำ highly ขยายคำขั้นสอง คือขยาย praised ดังนั้นจึงจัดอยู่ในขั้นสาม (tertiary) เป็นต้น (รายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ Essentials of English Grammar ของ Otto Jespersen)

ระบบใหม่ของ Jespersen นี้ แม้ว่าจะทำให้ไวยากรณ์อังกฤษดีขึ้นกว่าเก่า และสร้างชื่อเสียงให้แก่ Jespersen มาก แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากเห็นกันว่าต้องใช้เหตุผล (logic) มากจนเกินจำเป็น

4. Fries System หรือ Fries Grammar
ศาสตราจารย์ Charles C. Fries นักไวยากรณ์ชาวอเมริกัน เขียนหนังสือชื่อ The Structure of English ขึ้นในปี พ.ศ. 2495 หนังสือนี้สร้างความตื่นเต้นให้แก่นักไวยากรณ์มาก ระบบใหม่ของ Fries ใช้วิชาภาษาศาสตร์ (linguistics) เป็นฐาน

หลักการกว้างๆ ของ Fries System คือแบ่งชนิดของคำตามลักษณะการใช้ในประโยค คำใดใช้ในประโยคได้วิธีเดียวกันก็รวมไว้ในชนิดหรือกลุ่มเดียวกัน เช่นจากประโยคว่า

He is happy.
คำใดซึ่งใช้ในลักษณะเดียวกับ he ได้ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ he คำใดซึ่งใช้แทน is ได้ ก็จัดอยู่ ในกลุ่มเดียวกับ is และคำใดที่ใช้แทน happy ได้ก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ happy เป็นต้น โดยวิธีนี้ Fries แบ่งคำส่วนหนึ่งในภาษาอังกฤษออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ตั้งชื่อกลุ่มเป็นตัวเลขว่า กลุ่ม 1, กลุ่ม 2, กลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 กลุ่ม 1 ได้แก่คำนามและคำเสมอนาม กลุ่ม 2 ได้แก่ verb กลุ่ม 3 ได้แก่ adjective กลุ่ม 4 ได้แก่ adverb คำที่เหลือเรียกว่า Funciton Word ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ 15 กลุ่ม ตั้งชื่อกลุ่ม เป็นตัวอักษรว่า กลุ่ม A, กลุ่ม B, กลุ่ม C, …

ระบบของ Fries ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในอเมริกาและทั่วโลก ตำราเรียนภาษาอังกฤษสมัยใหม่เริ่มใช้วิธีของ Fries แม้ว่าระบบนี้โลกจะยังไม่ยอมรับแทนระบบ traditional ก็มีแนวโน้มว่า Fries System คงจะเป็นต้นแบบที่จะพัฒนาวิชาไวยากรณ์อังกฤษไปสู่ระบบใหม่ที่สมบูรณ์ ยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา:เลิศ เกษรคำ